7 สิงหาคม 2555

'ปณต จิตต์การุญ' เทรดเดอร์หนุ่มไร้ปริญญา ตอน 2

เทรดเดอร์หนุ่มไร้ใบปริญญาวัย 31 ปี เคยสร้าง ผลงานบริหารพอร์ตเอาชนะ 'วิกฤติซับไพร์ม' มาแล้ว!  เขาไม่ต่างจาก 'แจ็คผู้ฆ่ายักษ์' ผู้คิดค้นวิธีการเทรดด้วยสูตรเฉพาะตัว

ผู้ก่อตั้ง Mudley Group “ต้าน” ปณต จิตต์การุญ หนุ่มวัย 31 ปีที่เรียนไม่จบแม้ปริญญาตรี "วิศวะฯลาดกระบัง" ยอมทิ้งอนาคต "วิศวกร" ขณะเรียนชั้นปีที่ 4 ลาออกกลางคันบินไปฝึกฝนวิธีการเทรดที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีใครหยุดความฝันของเขาได้!!!

ตอนที่แล้ว ได้ปูพื้นที่มาที่ไปของเด็กหนุ่มผู้นี้ไปบ้างแล้ว ในวัยเด็กเขาเป็น "เซียนหมากรุก" ที่พ่อพาตะเวนไปล่ารางวัล ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเคยชนะเลิศการแข่งขัน University Stock Competition (ปี 2002) ของตลาดหลักทรัพย์ ต่อมามีนักลงทุนต่างชาติเห็นแววชักชวนไปฝึกวิชา "เทรดเดอร์" ที่อเมริกา เคยร่วมงานกับกองทุน Altera Partners Management ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้เด็กหนุ่มคนนี้มากที่สุดก็คือ บริหารพอร์ตให้มีกำไรท่ามกลางวิกฤติซับไพร์มช่วงปี 2551



ปณตเริ่มต้นอธิบายทฤษฎีการลงทุนส่วนตัวที่เขาซุ่มพัฒนามานานนับสิบปีว่า คนทั่วไปมักจะลงทุนด้วยเงินทั้งก้อน ลงทุนแบบนี้มันสุดโต่งเกินไป วิธีที่ผมใช้จะค่อยๆ ลงทุนทีละส่วนเท่ากับว่าเราจะมี "กระสุนใส่ได้ตลอดเวลา" และมีโอกาสที่จะเทรดได้ทุกวัน กระแสเงินสดที่ใส่ลงไปเพิ่มทุกๆ ครั้งจะไปชดเชยมูลค่าพอร์ตที่ลดลงไปได้

เขาบอกว่า ถ้าหากรู้ว่าลงทุน "ผิดทาง" ทางแก้ไขคือการ Cut Loss วิธีคิดของคนส่วนใหญ่จะ Cut Loss ต่อเมื่อเขาสามารถ “ซื้อกลับ” ได้ในราคาที่ “ถูกกว่า” แต่ความจริงก็คือ เราไม่สามารถคาดเดาตลาดได้อย่างแม่นยำ ถ้าเรา Cut Loss แล้วหุ้นขึ้นแปลว่าเราต้องหาโอกาสใหม่ที่จะได้เงินส่วนนั้นกลับคืนมา

"วิธีการของผมจะต้องหาทางทำให้เราไม่ต้อง Cut Loss มาก เพราะฉะนั้นผมจะต้องไม่ทุ่มลงทุนแบบสุดโต่ง และต้องมีโอกาสสร้างกระแสเงินสดได้ตลอดเวลา กองทุนฝรั่งบางกองเขาใช้วิธีเทรดได้ทุกวัน สร้างกระแสเงินสดขึ้นมาชดเชยส่วนที่เสียไป ถ้าเราชดเชยไปเรื่อยๆ ผลตอบแทนจะกลับคืนมาเอง...จอร์จ โซรอส ยังบอกเลยว่าขอป้องกันเงินทุนก่อน เขาจะลงทุนหนักๆ ต่อเมื่อมีกำไรแล้วเอากำไรไปเพิ่ม leverage ขอกำไรจากโฮมรัมเพียงครั้งเดียว สไตล์ของเขาจะไม่เอาเงินต้นมาเล่น หลายกองทุนก็ทำแบบนี้”

สรุปก็คือ คอนเซ็ปท์ของผมจะมุ่งรักษา "เงินต้น" เป็นหลัก แล้วผลตอบแทนจะมาเอง เฮดจ์ฟันด์ที่เจ๊งไปเพราะเอาส่วนของทุนไป leverage แต่ส่วนตัวจะนำส่วนที่เป็นกำไรมา leverage เท่านั้น!..ถ้าเจ๊งไปผมยังมีทุนอยู่ มุมมองของผมถ้าลงคือ "โอกาส" ขึ้นหมายถึง "กำไร"

ณสุ จันทร์สม อดีตผู้จัดการกองทุนชื่อดังผู้ที่สนับสนุนเงินทุนให้ปณต กล่าวเสริมขึ้นว่า ถ้าเราอยากให้เงินทำงานให้อย่างเต็มที่ เราต้องจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม กระแสเงินสดจะเกิดขึ้นตลอดเวลา อีกอย่างเรารู้ว่าสินทรัพย์ต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหุ้นมันมีที่มาที่ไป ไม่มีทางที่ราคาหุ้นจะลงมาเหลือศูนย์บาท คำว่าลงคือโอกาส ขึ้นคือกำไร มันฟังดูง่าย! แต่คิดจะทำมันไม่ง่ายต้องเปลี่ยนแนวคิดในหัวใหม่ "ไม่มุ่งหวังกำไรสูงสุด" คนทั่วไปจะคิดว่า "ลงซื้อ..ขึ้นขาย" แต่พอซื้อไปแล้วหุ้นลงสองวันติดก็เริ่มจะมั่วออกนอกเส้นทางแล้ว

ปณต เสริมว่าการแบ่งพอร์ตออกเป็นส่วนๆ จะทำให้มีโอกาสและปรับเปลี่ยนแท็กติกได้ตลอดเวลา ถ้าหากลงเงินไปทั้งหมดถ้าพลาดก็จะหมดโอกาสไปเลย อาจเป็นเพราะช่วงที่เริ่มต้นเล่นหุ้นใหม่ๆ สมัยปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจทำให้พอร์ตตอนนั้นเสียหาย หุ้น TRUE (เทเลคอมเอเชีย) จากราคาเกือบ "ร้อยบาท" ตอนนี้เหลือ "สี่บาท" อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น

"หลักเกณฑ์การเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน ผมจะเน้นเฉพาะโปรดักท์ที่ลงทุนแล้วสบายใจ..เจ๊งยาก! เช่น ลงทุนใน Index Fund ที่มีหุ้นหลายตัวรวมอยู่ในตระกร้าเดียว โอกาสที่หุ้นจะเจ๊งทั้งหมดเป็นไปได้ยาก หรืออย่างสินค้าโภคภัณฑ์จะเล่นพวกน้ำตาล, Cotton มีคนซื้อใช้แน่นอน แต่จะไม่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างพวก DW เพราะมันมีวันหมดอายุ ส่วนหุ้นรายตัวถ้าไม่รู้พื้นฐานของมันเท่ากับไม่รู้อนาคต นั่นคือความเสี่ยง"

ปณต บอกว่า การลงทุนค่อนข้างเปิดกว้างในหลายสินทรัพย์ เงินทุนส่วนที่จะนำไปลงในสินทรัพย์ที่มี "ความเสี่ยงสูง" เช่น Option จะต้องเป็นส่วนที่มาจาก "กำไร" ถ้าเป็นตลาดหุ้นจะเล่นพวก SET50, ETF ถ้าในต่างประเทศก็จะลงทุน Index Fund ของประเทศต่างๆ รวมถึงพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนตัวมองว่าลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ มันมีต้นทุนของมันยังไงก็ไม่มีวันเจ๊ง เช่น น้ำตาล, ทองคำ, น้ำมัน ฯลฯ เราสามารถวางกลยุทธ์เข้าซื้อได้ตอนตลาดเกิดความกลัว แล้วขายตอนมีคนแห่เข้ามาซื้อ เป็นต้น

ย้อนกลับไปสมัยปี 2551 ตอนแรกพอร์ตยังติดลบอยู่เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศตอนนั้นลงหนักมากและไปถือ ETF หุ้นต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่การที่มีกระแสเงินสดที่เพียงพอจากที่ติดลบอยู่ 20% ก็ค่อยๆใส่เงินเข้าไปในพอร์ตเรื่อยๆ จนผลขาดทุนเริ่มหายไป การใส่กระแสเงินสดลงไปทุกวันมันเหมือนกับ "น้ำซึมบ่อทราย" สุดท้ายหุ้นก็ขึ้นและได้เงินกลับคืนมาหมด

"เวลาที่ตลาดเป็น "ขาลง" มันจะไม่ลงทางเดียว หลักการอาจจะคล้ายซื้อถัวเฉลี่ยแต่มีวิธีการมากกว่านั้น ต้องมีหลักคิดในการเลือกสินค้าที่จะลงทุน รูปแบบการเข้าซื้อ การบริหารเงินก็สำคัญ"

ปณต ออกตัวว่าไม่เคยทำนายตลาด แม้มีคนบอกว่าถ้าเป็นเซียนจริงต้องตอบได้ แต่แนวคิดส่วนตัวไม่ใช่แบบนั้นและไม่มีความสามารถพอ จึงจำเป็นต้องใช้ Money Management เข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถเล่นได้ทุกราคาโดยไม่ไปคาดการณ์ทิศทางตลาด อย่างเราไปเล่นพวกอนุพันธ์นี่มันเป็น Zero Sum Games มีผู้ชนะย่อมมีผู้แพ้ ถ้าเราคิดจะไปเอาเงินเขา ระวังเราจะเสียเงินก่อน

นอกจากนี้ การเป็นเทรดเดอร์ต้อง “เปิดใจกว้าง” อย่าไปยึดติด ส่วนตัวนอกจากวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้วยังใช้กราฟเทคนิคและจิตวิทยามาร่วมด้วย คือ อ่านนักลงทุนส่วนใหญ่กำลังคิดอะไรอยู่ เวลาเทรดจึงใช้เทคนิคหลายๆ อย่างมาผสมกัน ที่สำคัญคนเป็นเทรดเดอร์ต้องมีจิตใจที่ดี ถ้าอารมณ์ดีทุกอย่างจะดีตาม

ณสุ เสริมขึ้นส่วนตัวเชื่อมั่นว่าแนวทางของปณตสามารถอยู่รอดในตลาดหุ้นได้นาน แม้ว่าตลาดจะเหวี่ยงแต่ก็ยังทำผลงานได้ดี ขณะที่ ปณต พูดต่อว่า ตนเองมีลูกศิษย์ที่ออกไปเป็น Prop Trade ประจำโบรกเกอร์หลายคน ส่วนตัวมองว่าเทรดเดอร์บ้านเราเน้นการใช้เทคนิคมากเกินไป แต่อาจจะอ่อนเรื่องการบริหารเงินและเรื่องของจิตใจ

แม้จะเป็นเทรดเดอร์แต่ปณตยังฝึกฝนตัวเองด้วยการเรียน "ดนตรี" เพื่อฝึกด้านจิตใจให้ “นิ่ง” เพราะการลงทุนเป็นเรื่องของ "จิตวิทยา" อย่างมาก เขาบอกว่าศิลปะทางดนตรีจะช่วย "เบรคอารมณ์" ได้ เทรดเดอร์มืออาชีพ ห้ามคิดแต่จะทำกำไรอย่างเดียว จะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย

ถามถึงผลตอบแทนย้อนหลัง ปณต ตอบสั้นๆ ว่า ถ้าผลงานไม่โอเคคงเป็นเทรดเดอร์ไม่ได้นาน ที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสร้างผลตอบแทนต่อปีเท่าไร แต่ที่ผ่านมาก็ทำได้ระดับ 10-20% มาตลอด นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าใจหลักการ "รักษาเงินต้น" ค่อยๆ สร้างพอร์ตให้เติบโตและนำกำไรไปสร้างกระแสเงินสด หัวใจมันอยู่ตรงนี้ ถ้าคิดแต่จะทำกำไรสูงๆ จะยากและมีความเสี่ยงเหมือนกับการพนัน

ปณต พยายามจะชี้ว่า เฮดจ์ฟันด์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นกลุ่มที่เห็นจุดอ่อนในระบบทุนนิยม คนอาจจะติดภาพเฮดจ์ฟันด์เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท หรือกรณี จอร์จ โซรอส ไปโจมตีค่าเงินปอนด์ คำว่าเฮดจ์ฟันด์สำหรับก.ล.ต.ไทยจึงเป็นของแสลง แต่ถ้าเราจะเปิดเสรีและไม่ปรับตัวยอมรับเราก็จะตามหลังคนอื่น

เด็กหนุ่มผู้หาญก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การมีชีวิตนอกกรอบทำให้มีมุมมองอะไรกว้างขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้ใครมาเลียนแบบเพราะใบปริญญาก็สำคัญในชีวิต ถ้าเลือกได้คงไม่ลาออกกลางคัน บังเอิญจังหวะมันมาพอดี

"ผมอยากจะให้ข้อคิดสำหรับเทรดเดอร์รุ่นใหม่ เห็นเด็กหลายคนเอาเงินพ่อแม่มาเล่นหุ้นแล้วได้กำไรดี แต่ระยะยาวไม่รู้ว่าจะยืนได้นานแค่ไหน สำหรับผมตลาดหุ้นไม่ได้มีแค่จังหวะเดียว คุณคงไม่ได้กำไรตลอดไป แต่ผมพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางนี้มาสิบปี"

เครดิต : Bangkokbiznews.com

1 ความคิดเห็น: