4 เมษายน 2555

ที่สุดแห่งหนังสือการลงทุน "The Intelligent Investor"

หนังสือ "คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า" (The Intelligent Investor) เขียนโดยเบนจามิน เกรแฮม(Benjamin Graham)ถือเป็นหนังสือคลาสสิกที่สุดเล่มหนึ่งของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (แนว VI ) ทุกคนควรอ่านหนังสือเล่มนี้ (แม้มันจะหนาไปสักนิด ^^) และถือเป็นโชคดีของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในเมืองไทยที่คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข แฟนพันธุ์แท้ วอรเรน บัฟเฟตต์ ผู้แปลหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนมาแล้วหลายต่อหลายเล่มได้ลิขสิทธิ์แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นภาษาไทยให้ได้อ่านกัน เพราะถ้าอ่านภาษาอังกฤษต้นฉบับสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย อาจต้องใช้เวลานานหรือเลิกล้มกลางคันเพราะภาษาที่ใช้ค่อนข้างเก่าและอ่านยากพอสมควร



ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ เบนจามิน เกรแฮม กันซักนิด.....
เกรแฮม คือปรมาจารย์การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” เกรแฮมเป็นผู้นำเสนอทฤษฏีใหม่ๆ ต่อแวดวงการลงทุนโลก ในยุคที่ทุกคนต่างมองหุ้นเป็นการเก็งกำไร นอกจากนี้ ตัวเขายังเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคปัจจุบัน



เกรแฮมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียด้วยผลการเรียนที่เยี่ยมยอด ก่อนจะไปทำงานในวอลสตรีทร่วมสิบปี และเติบโตในสายงานอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง และได้ร่วมหุ้นกับ พอล นิวแมน ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เกรแฮมได้ลงทุนด้วยทฤษฏีการลงทุนที่ตัวเองคิดค้นขึ้น และประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ร่วม 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าตลาดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ด้วยจิตวิญญาณของนักวิชาการ เกรแฮมยังกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียควบคู่ไปด้วย และได้เขียนหนังสือสองเล่ม ซึ่งโด่งดังและได้รับการยอมรับสูงมากในแวดวงการลงทุนสหรัฐฯ นั่นก็คือ “Security Analysis” และ “The Intelligent Investor”

โดยเฉพาะหนังสือเล่มหลัง ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้อ่านตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและประทับใจมาก จนตัดสินใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพื่อที่จะได้เรียนกับเกรแฮม บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า The Intelligent Investor จากปลายปากกาของเกรแฮม คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

หลักที่เป็นหัวใจของทุกทฤษฏีการลงทุนของเกรแฮมก็คือ การ “ใช้เหตุผล” ในการลงทุน โดยให้คว้าโอกาสจากความผิดพลาดของตลาด อย่าไปบ้าคลั่งตามมัน

เกรแฮมเปรียบเทียบตลาดหุ้นซึ่งมีแต่ความผันผวนและไร้เหตุผลเป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง สมมุติชื่อว่า “Mr.Market”หรือ “คุณตลาด” ชายผู้มีพฤติกรรมแปรปรวน บางวันก็ตื่นกลัวจนไร้สติ บางวันก็อารมณ์ดีเกินเหตุ โดยนักลงทุนต้องรู้จักหาประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของเพื่อนที่แสนดีผู้นี้

นอกจากนี้ เกรแฮมยังชี้ชัดอีกว่า ในการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ควรมี “Margin of Safety” หรือ “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” ราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อ ต้องต่ำกว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของบริษัท เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสียหายจากการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ที่สำคัญคือ นักลงทุนต้องมอง “หุ้น” เป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจ” ต้องมองภาพให้ออกว่าการ “เข้าซื้อหุ้น” คือการ “เข้าซื้อธุรกิจ” อย่ามองหุ้นแบบ “นักเก็งกำไร” คือเข้าไปซื้อหุ้นเพียงเพราะหวังว่าราคาของมันจะสูงขึ้นไป โดยไม่สนใจพื้นฐานใดๆ ไม่สนใจว่าบริษัททำธุรกิจอะไร อย่างไร

แม้หลักการลงทุนของเกรแฮม จะเป็นการเสนอการลงทุนในมิติใหม่ให้กับแวดวงการลงทุนโลก แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหลักที่ “เข้มงวด” และมีความเป็น “อนุรักษ์นิยม” จนเกินไป ทั้งยังเน้นหนักแต่ตัวเลขและงบการเงิน ซึ่งหากยึดหลักของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด นักลงทุนอาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนงามๆ มากมาย

ในช่วงที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียนจบใหม่ๆ เขาได้มาทำงานให้เกรแฮมอยู่ 2 ปี โดยลงทุนด้วยวิธีของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด หลายปีต่อมา บัฟเฟตต์ได้พัฒนาตัวเองขึ้นไป และเอาหลักการลงทุนของเกรแฮมไปปรับใช้ โดยเน้นไปที่ “คุณภาพ” ของกิจการมากขึ้น มิใช่ดูแค่เพียง “ตัวเลข” ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงและกลายเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ก็ยังยกคุณความดีให้กับเกรแฮม โดยบอกว่า หลักการลงทุนที่เขาเอามาใช้จนร่ำรวยมหาศาลนั้น มาจากเกรแฮม 85%และ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ 15% ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันถึงความยิ่งใหญ่ของ เบนจามิน เกรแฮม “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

นักลงทุนผู้ชาญฉลาด หรือ Intelligent Investor ในความหมายของเกรแฮมไม่ได้หมายความว่า นักลงทุนคนนั้นเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางปัญญา หรือไอคิวสูง หรือมีการศึกษาที่สูง แต่หมายถึงนักลงทุนที่มีอุปนิสัยดังนี้

• มีความอดทน และมีวินัยในการลงทุน
• ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ
• ศึกษาและทำความเข้าใจกิจการอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นๆ
• ควบคุมอารมณ์ไม่ให้มาก้าวก่ายเหตุผลได้เป็นอย่างดี

ในหนังสือยังยกตัวอย่างถึงนักปราชญ์ในอดีตอย่างเซอร์ไอแซค นิวตัน (Sir Issac Newton) ที่พวกเรารู้จักกันดีว่ามีความฉลาดเป็นเลิศ ผลงานของท่านอย่างกฎของนิวตันยังใช้กันอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ท่านเซอร์ผู้นี้เป็นนักลงทุนเช่นกัน ท่านเคยลงทุนในหุ้นบริษัทเซาท์ซี (South Sea) ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมากอย่างไม่มีเหตุผล ท่านจึงตัดสินใจล้างพอร์ตของท่านทำกำไรไปประมาณ 7,000 ปอนด์ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ในที่สุดราคาหุ้นก็ยังปรับตัวสูงขึ้นหลังจากท่านขายออกไปแล้ว ท่านทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อหุ้นนี้อีกในราคาที่สูงกว่าที่ขายออกไป สุดท้ายท่านขาดทุนไป 20,000 ปอนด์ ถ้าหากคิดมูลค่าปัจจุบันแล้วก็น่าจะราวๆ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เอาเป็นเงินไทยน่าจะประมาณ 10 ล้านบาท ท่านเจ็บใจมาก ห้ามมิให้ใครพูดคำว่าเซาท์ซีให้ท่านได้ยินอีกตลอดชีวิต

คนที่มีความฉลาดปราดเปรื่องมากๆ ยังพลาดได้ในตลาดหุ้น ซึ่งก็ไม่แปลกหากนักลงทุนทั่วไปจะพลาดกับตลาดหุ้นจนย่ำแย่ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ฉลาด เพียงแต่เรายังไม่ได้สร้างอุปนิสัยสำคัญของการเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาดไว้ในตัวต่างหาก ในกรณีของท่านเซอร์ไอแซค นิวตันคาดว่าท่านพยายามทำทุกขั้นตอนมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่มาพลาดตอนจบ คือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้มาก้าวก่ายเหตุผลได้ โดยปล่อยให้อารมณ์ความโลภเข้ามาครอบงำจิตใจได้จนหมดสิ้น จนเกิดความกล้าอย่างประหลาด ในที่สุดก็พลาดกับเรื่องง่ายๆ ทั้งๆ ที่ท่านเองก็คิดว่ามันไม่มีเหตุผลใดๆ มาสนับสนุนให้ราคามันสูงขึ้นได้ขนาดนั้น

เรื่องแบบนี้มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบไม่สิ้นในตลาดหุ้นอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนผู้ชาญฉลาดควรพยายามฝึกจิตให้มั่นคง พยายามสร้างคุณสมบัติทุกอย่างอย่างที่ควรจะมีอย่างที่เกรแฮมกล่าวไว้ นอกเหนือจากนั้นในหนังสือยังมีตัวอย่างการลงทุนอีกมาก นักลงทุนที่สนใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าควรอ่านและเก็บรักษาหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะผ่านมาหลายสิบปีแต่หลักการในหนังสือเล่มนี้ยังใช้ได้ดีอยู่เสมอ

เรียบเรียง: 2Binvestor
เครดิต : บทความจากคุณ ชัชวนันท์ สันธิเดช และคุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น