“ทุกคนที่เจ๊งหุ้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่ยอม “Stop Loss” ทำให้ผมเข้าใจว่า ถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง” “ต้องชิงตัดขาดทุน (Cut Loss) เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย” …….. ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม (หมอยง)- นักลงทุนรายใหญ่ของไทย
ถ้าท่านอยากเป็นนักกีฬามืออาชีพ ท่านก็ต้องเข้าหานักกีฬาทีมชาติ ถ้าท่านอยากเป็นนักกอล์ฟ ท่านก็ไม่ควรจะมาถามผม เพราะผมตีกอล์ฟไม่เป็น ถ้าท่านกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ก็ไม่ควรชมภาพยนตร์ที่มีฉากเครื่องบินตก และถ้าท่านอยากเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น ก็ต้องสัมภาษณ์และเรียนรู้ถอดประสบการณ์จากเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จ ใช่ไหมครับ…?
ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสเจอเซียนหุ้น ผมจึงไม่รีรอที่จะถามท่านเหล่านั้นว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นหุ้น
เซียนหุ้นแต่ละท่านตอบเหมือนกันทุกคนเลย ยังกะนัดกันมา “สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นหุ้น คือ ต้องลิมิตผลขาดทุนเป็น และหากใครขายขาดทุนไม่เป็น อย่ามาเล่นหุ้น”
ใช่ครับ ซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้นคงไม่ใช่ปัญหา แต่ซื้อหุ้นแล้วลงมา มันขึ้นยากนะครับ คิดง่ายๆว่า ถ้าหุ้นลงมา 50% ก็หมายความว่า มันจะต้องขึ้นไปถึง 100% เชียวนะครับกว่าจะกลับมาเท่าทุน ถึงจะอ้างว่าเป็นเงินเย็น ไม่ขายไม่ขาดทุนก็เถอะ
ร้อยทั้งร้อยของคนที่เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง เราลองไปสอบถามสำรวจดูสิครับ ล้วนเกิดจากการขายขาดทุนไม่เป็นทั้งนั้นแหละ พอขายขาดทุนไม่เป็น หุ้นที่เราถือไว้ก็ทุนหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแทบจะไม่เหลืออะไรเลย
ร้อยทั้งร้อยของคนที่เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง ล้วนเคยได้กำไรจากหุ้นกันมาถ้วนหน้าทั้งนั้นครับ แต่ความมั่นใจในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งว่ามันจะกลับมาทำกำไรได้อีก เลยถือไปเรื่อย สุดท้ายกินทุนหมดเกลี้ยง จนกำไรที่หาได้มาก็ไม่สามารถเอามาทำน้ำยาอะไรได้
มีอีกกรณีหนึ่งที่ส่วนใหญ่ทำผิดซ้ำๆ พบเห็นบ่อยๆ คือ นอกจากจะไม่ยอมขาดทุนแล้ว ยังซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนลงมาเรื่อยๆอีก อันนี้ยิ่งเจ๊งเร็วขึ้นเข้าไปใหญ่
ตอนซื้อถัวเฉลี่ยราคา ทุกคนก็ดันทุรังเหมือนๆกันแหละครับ ว่าหุ้นที่ลงมานี้พื้นฐานดี ยังไงก็ต้องขึ้น สุดท้ายกว่าจะรู้ว่าพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปเป็นหนังเศร้า พอร์ตเราก็เน่าไปซะก่อน ยากเกินจะเยียวยาเลยล่ะ
สอบถาม สำรวจ ผู้คนในห้องค้ามาแล้ว เหตุผลคล้ายๆกันเลยแหะ เอ เราๆท่านๆ ดันทุรัง ด้วยความคิดทำนองนั้นด้วยหรือเปล่าเนี่ยะ
พี่เกษ ซื้อหุ้นบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งที่ราคา 64 บาท โดยตั้งใจว่าจะลงทุนระยะยาว เนื่องจากเห็นว่าเป็นโบรกเกอร์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด (ในสมัยนั้น) พอเริ่มขาดทุน พี่เกษ ก็นึกเสียดายที่ตอนมีกำไรไม่ได้ขาย ครั้นจะให้มาขายขาดทุนก็ทำใจไม่ได้ เลยเฝ้ารอเฝ้าหวังว่า เดี๋ยววันหลังมันคงจะกลับมาที่ราคาเก่าได้ ….. ปัจจุบันเหลือ 20 กว่าบาท พี่เกษ ขายไม่ลงซะแล้ว
พี่เอก ซื้อหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ซีมีโก้ที่ราคา 10 บาท ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับพี่เกษ พอขึ้นไป 12 บาท พี่เอกไม่ได้ขาย “กำไรไม่ถึง 2 แสนบาท พี่ไม่ขายหรอก” พี่เอกให้เหตุผล ……. พอวิ่งลงมาเข้าใกล้ทุน พี่เอก ก็ไม่ได้ขายอีก เพราะคิดเข้าข้างตัวเองว่า เดี๋ยวมันต้องกลับมาแน่ๆ เมื่อราคาหุ้นลงมาจนกระทั่งเริ่มกลายเป็นขาดทุนเล็กน้อย พี่เอกก็ยังไม่ขายอีก “แหม ทีกำไรยังไม่ได้ขายเลย จะให้มาขายขาดทุนหรอ” จากนั้นราคาก็ดิ่งลงเรื่อยๆ ….. ปัจจุบันราคาหุ้นเหลือเพียง 3-4 บาท พี่เอก ปล่อยวางเสียแล้ว
พี่เกษ กับ พี่เอก เริ่มเข้าใจแล้วล่ะครับว่าหุ้นบริษัทหลักทรัพย์จะสวิงขึ้นรุนแรงเว่อร์ๆเสมอ เมื่อปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นกลับมาคึกสุดขีด และ จะเป็นจะตาย หายใจรวยรินทุกครั้งที่ตลาดซบเซา แต่บทเรียนนี้ราคาออกจะแพงไปนิด ผมผิดเองแหละครับที่ออกหนังสือเล่มนี้ช้าไป
เฮียโย่ง เล่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างเพียงกลุ่มเดียว เพราะแกชำนาญในวงการนี้ เฮียโย่งเคยทำกำไรจากการขายหุ้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ และ บริษัท ช. การช่าง ได้ถึง 30% ในเวลาสั้นๆ แกเลยประทับใจเป็นพิเศษ ครั้งหลังสุด ก็หลายปีมาแล้วล่ะ เฮียซื้อหุ้นอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ที่ราคา 11 บาท และ ซื้อหุ้น ช. การช่าง ที่ 26 บาท เพราะเห็นว่าได้งานใหญ่หลายโครงการ ราคาหุ้นน่าจะไปได้ต่อ แต่หลังจากซื้อได้ไม่นาน มันก็ร่วงลงต่อหน้าต่อตา แต่เฮียหาได้หวั่นไหวไม่ เนื่องจาก 2 บริษัทนี้ เป็นเจ้าพ่อในวงการรับเหมาก่อสร้างของไทย ถือไว้ต่อไป เดี๋ยวมันก็คงจะกลับมา ….. ปัจจุบันราคาหุ้นอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เหลือเพียง 5 บาท และ ราคาหุ้น ช. การช่าง เหลือเพียง 8 บาท ส่วนเฮียโย่ง เลิกเล่นหุ้นไปแล้ว
เฮียโย่งสูญเสียทั้งกำไรและเงินต้น เพราะเฮียขาดความเข้าใจในเรื่องของ Sell on Fact …. ตอนจะเปิดประมูล ก็มีการเก็งกำไรขึ้นไปรอมากพอแล้ว ว่าบริษัทนั้น บริษัทนี้จะได้งานโครงการหลายหมื่นล้าน ดังนั้นไม่ว่างานประมูลนั้นจะได้มาหรือไม่ก็ตาม กลุ่มคนจำนวนมากที่ซื้อเก็งกำไรรอไว้ก็จะขายหุ้นทำกำไรออกมาอยู่ดี
คุณอ๊อด เป็นนักลงทุนระยะยาว หลังจากพิจารณาไตร่ตรองจนดีแล้ว ก็เลือกที่จะลงทุนในหุ้นที่ตระกูลของ อดีตท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยความมั่นใจว่าปลอดภัย 100% ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นตลาดหุ้นดิ่งลง ท่านนายกฯ ก็รีบออกมารณรงค์ด้วยสโลแกน “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” คุณอ๊อดจึงกัดฟันถือเรื่อยมา พร้อมทั้งซื้อลงทุนเข้าไปอีกมากมาย ทุกครั้งที่ราคาหุ้นเหล่านี้ลงต่ำ ด้วยความมั่นใจว่าลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มนี้ ยังไงก็ไม่เจ๊ง ….. จากราคาแรกที่เข้าลงทุนในหุ้นไอทีวี ที่ 28 บาท หุ้นดาวเทียมชินแซทเทลไลท์ที่ 20 กว่าบาท และ หุ้นชินคอร์ปอเรชั่นที่ 44 บาท ทุกวันนี้หุ้นไอทีวีเหลือเพียง 1 บาท แถมถูกห้ามซื้อขายอีก ส่วนหุ้นดาวเทียมชินแซทเทลไลท์เหลือเพียง 10 กว่าบาท และ หุ้นชินคอร์ปอเรชั่นก็ดิ่งลงมาเหลือเพียง 20 บาทเท่านั้น
คุณอ๊อด มีความตั้งใจแรกเริ่มที่จะลงทุนระยะยาว แต่กลับไปเลือกหุ้นระยะสั้น-กลาง ที่ไปผูกติดกับสัมปทานและการเมือง แม้กระทั่งสถานการณ์เปลี่ยนไป ตระกูลชินวัตรขายหุ้นของตระกูลให้กับทางสิงคโปร์แล้ว แต่คุณอ๊อดก็ยังยึดนโยบายเดิม “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ทั้งๆที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เปลี่ยนมือไปแล้ว ทั้งๆที่การเมืองพลิกกลับตาลปัตร นี่เป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงมาก ที่คุณอ๊อดฝากเตือนพวกเรา
เจ๊ภา เป็นนักเก็งกำไรตัวยง หุ้นตัวไหนกราฟสวย วิ่งเร็ว อดใจไม่ได้ที่จะต้องวิ่งตามทุกที มันตื่นเต้นเร้าใจดี เจ๊แกว่างั้น หุ้นแนเชอรัลพาร์ค ต้นทุน 8 บาท เจ๊ก็มี, หุ้น เอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง ต้นทุน 9 บาท เจ๊ก็มี, หุ้นสิงห์พาราเทค ต้นทุน 9 บาท เจ๊ก็มี ….. ปัจจุบันนี้ยังอยู่ครบทุกตัว ไม่ได้หายไปไหน แต่ราคาในตลาดกลับเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ หุ้นแนเชอรัลพาร์คเหลือเพียง 20 กว่าสตางค์, หุ้น เอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง เหลือเพียง 3 บาท, หุ้นสิงห์พาราเทคเหลือเพียง 2 บาทกว่าๆ
เจ๊ภา เริ่มด้วยความตั้งใจจะเก็งกำไร แต่พอซื้อแล้วลง เจ๊จะเสียดาย ไม่อยากขายขาดทุน และจะเก็บไว้ในพอร์ต ถือเป็นการลงทุนแทน “เอ็นปาร์คก็มีโครงการใหญ่ๆอยู่ตั้งเยอะ เอ็นซีเฮ้าส์ซิ่งก็ไม่น่าห่วง ยังไงคนก็ต้องซื้อบ้าน ส่วนสิงห์พาราเทค พื้นฐานก็ดี ไม่นึกว่าแต่ละตัวจะลงมาได้ถึงขนาดนี้ รู้งี้เจ๊ขายไปตั้งแต่ทีแรกที่ลงมานิดหน่อยแล้ว ถ้าขายตอนนั้นนะ ขาดทุนนิดเดียวเอง” เจ๊ภา เริ่มเห็นสัจธรรม หลังจากเก็งกำไรในหุ้นพื้นฐาน และ ลงทุนในหุ้นเก็งกำไรมาเป็นเวลาหลายปี
น้าบิ๊ก สนิทกับนักเล่นหุ้นรายใหญ่ เจ้าของฉายา “เดอะซัน” โทรกริ๊งกร๊างหากันเป็นประจำยังกะเพื่อนสนิท รอบแรก เดอะซัน บอกจะทำราคาหุ้น PICNOCK ไปที่ 20 บาท มันก็ไปจริงๆ บอกว่าจะทำราคา WESTERNWIRE ไป 30 บาท มันก็มาตามนัด พอทำกำไรกันไปถ้วนหน้าอิ่มหมีพลีมัน ราคามันก็ร่วงลงมาตามระเบียบของหุ้นเก็งกำไร อีกไม่นานหลังจากนั้น เดอะซันก็โทรมาให้เป้าใหม่ ใหญ่กว่าเดิม …… ด้วยความเชื่อความศรัทธาเต็มร้อย คราวนี้น้าบิ๊กลุยสุดตัวและหัวใจ เคาะซื้อ PICNOCK รอบใหม่แถว 15 บาท เคาะซื้อ WESTERNWIRE รอบใหม่แถว 20 บาท ใครจะเตือนว่ามีข่าวร้ายรออยู่ ยังไงก็ไม่ฟัง มั่นใจสุดๆ ….. ปัจจุบันนี้ ทั้ง PICNOCK และ WESTERNWIRE ไร้ร่องรอยของ เดอะซัน ล่าสุด PICNOCK เหลือเพียง 30 สตางค์ และ WESTERNWIRE เหลือเพียง 6 บาทกว่า
นอกจากตัวอย่างของพี่ป้าน้าอา ที่ได้รับอนุญาตให้นำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์แก่นักลงทุนหน้าใหม่แล้ว ยังมีเหตุผลยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสุดยอดฮิตของต้นตอการเจ๊งหุ้น จะลองทายดูก่อนไหมครับว่าคำอ้างไหนฮ๊อตฮิตติดชาร์ท
“มันลงมามากแล้ว คงไม่ลงไปลึกกว่านี้แล้วมั๊ง” ฮ๊อตสุดๆครับ ฮิตติดชาร์ท ขึ้นแท่นนัมเบอร์วันตลอดกาล
อย่างที่เซียนหุ้นพันล้าน หมอยง บอกไว้นั่นแหละครับ “ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!”
ราคาหุ้นจริงๆควรจะเป็นเท่าไหร่ ใครเป็นผู้กำหนดล่ะครับ
เรากำหนดได้ตามอำเภอใจรึป่าว เห็น อาโก อาซิ้ม ในห้องค้า กำหนดราคาเองตลอดเลย ว่าจะซื้อที่ราคาเท่านั้น จะขายที่ราคาเท่านี้
ทั้งๆ ที่บางที ราคาที่ว่า ก็ยังไม่น่าซื้อด้วยซ้ำ เพราะช่วงนั้นมีแต่คนอยากขายออก แต่ไม่ยักกะมีคนอยากซื้อ และ หลายต่อหลายครั้งไม่ยอมลดราคาขายลงมา จนทุกวันนี้ถูกแสนถูกยังขายให้ใครไม่ได้เลยก็มีอยู่บ่อย
โทรศัพท์มือถือ กับ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เดี๋ยวนี้ใครๆก็สามารถซื้อหาเป็นเจ้าของได้ ขณะที่เครื่องเพจเจอร์ราคาถูกแค่ไหนก็ไม่มีใครซื้อ ใช่ไหมครับ
ทำไมของบางอย่าง ยิ่งแพงลูกค้ายิ่งแย่งกันซื้อ แต่ของบางอย่าง ยิ่งถูกลงผู้ขายกลับยิ่งแข่งขันกันลดราคา
หุ้นก็เหมือนกันครับ ช่วงไหนคนในตลาดให้ความสำคัญกับหุ้นกลุ่มไหนมาก ถึงแพงแล้วก็ยังมีแพงกว่า ขณะที่หุ้นบางกลุ่ม บางตัว หมดความน่าสนใจลงซะแล้ว ถูกอย่างไรก็ไม่มีใครเอา
เครดิต : ThaiDayTrade
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น