13 พฤษภาคม 2555

คุณสมบัติเซียน

เชื่อว่าในหมู่นักลงทุน จะมีคำถามหนึ่งที่อยู่ในใจของหลายๆคน คำถามนั้นคือ คนที่สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้เป็นกอบเป็นกำหรือที่เค้าเรียกว่าเซียนหุ้น จะต้องมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากนักลงทุนรายอื่นยังไง และเราสามารถจะประสบความสำเร็จแบบเขาได้หรือไม่ คำถามนี้ได้มีผู้ที่ทำการศึกษาอย่างจริงจัง โดย Dr. Van K. Tharp จาก มหาวิทยาลัย Oklahoma ผู้มีผลงานด้านงานวิจัย บทความ หนังสือ เป็นวิทยากรรับเชิญในรายการด้านการเงิน และเปิดคลินิกให้คำปรึกษา แก่ trader ต่างๆ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ในปี 1982 Dr.Tharp ได้ทำการศึกษานักลงทุน และนักเก็งกำไรนับพันๆคน เพื่อที่จะหาคุณลักษณะ รวมถึงทัศนคติและความเชื่อของผู้ที่ล้มเหลว และผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดcommodities ผลการศึกษาพบว่าคุณสมบัติของนักลงทุนที่ขาดทุน ส่วนใหญ่คือจะเป็นผู้ที่มีความเครียดสูง มองโลกในแง่ลบ และมักโยนความผิดพลาดของตนให้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ และเป็นนักลงทุนที่ชอบตามแห่ และไม่มีความอดทน



ส่วนคุณสมบัติของเซียนหุ้น หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดมักจะได้แก่ บุคคลที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีจึงทำให้มีทัศนคติเชิงบวก มีความคิดเสมอว่า การได้กำไรหรือขาดทุนเกิดจากการกระทำและการตัดสินใจของตนเอง มีวินัย ความอดทน และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีเยี่ยม

นอกจากการศึกษาข้างต้น Dr. Tharp ยังเชื่อว่า


ผู้ที่มีคุณสมบัติในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่า จะประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่มีคุณสมบัติด้านการวิเคราะห์สูงกว่า

"หากบุคคลใดยอมทุ่มเทเพื่อที่ลอกเลียนแบบความเชื่อ สภาวะจิตใจ และกระบวนการความคิดของเซียนหุ้นได้ บุคคลนั้นก็มีสิทธ์เป็นเซียนหุ้นได้"

ความคิดของ Dr. Tharp นี้เกิดจากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบของกองทัพอเมริกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการยิงปืนของกองทัพโดยศึกษาจากนักแม่นปืนที่สุด 2 นาย เพื่อใช้เป็นแบบอย่าง พบว่า ยอดนักยิงปืนทั้งสองมีความเชื่อดังนี้
  • หากจะอยู่รอดต้องยิงปืนแม่น
  • การล่าสัตว์เป็นสิ่งสนุก
  • สมาธิมีความสำคัญมาก
  • หากยิงพลาด จะมีผลกระทบถึงตนเอง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ยิงปืนได้ไม่ดี จะมีความเชื่อว่า ปืนคือปีศาจ ปืนคือสิ่งที่ใช้ฆ่ามนุษย์
  • หากยิงปืนบ่อยๆ จะทำให้หูอาจหนวกได้
  • หากยิงพลาด แสดงว่า ปืนกระบอกนั้นไม่ดี
จากศึกษานี้จะเห็นได้ว่า ความเชื่อที่ต่างกัน ทำให้คนสองกลุ่ม ประสบความสำเร็จต่างกัน กลับมาดูว่าเซียนหุ้นมีความเชื่ออย่างไร เซียนหุ้นมีความเชื่อว่า
  • เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ
  • หากขาดทุนในตลาดบ้างก็ OK
  • การ trade เป็นเพียงเกมส์ชนิดหนึ่งเท่านั้น
  • สมาธิมีผลต่อความสำเร็จ
  • และเขาชนะก่อนจะ trade เสียด้วยซ้ำ
นอกจากเลียนแบบความเชื่อแล้ว ถ้าเราอยากเป็นเซียนหุ้น เรายังต้องเลียนแบบสภาวะจิตใจ กระบวนการความคิดของเซียนหุ้นเหล่านี้ด้วย กล่าวคือ สภาวะจิตใจของเซียนหุ้นในขณะลงทุนผิดพลาด และเกิดขาดทุน พวกเขาจะทำการค้นหาสาเหตุ และทำการแก้ไขความผิดพลาดนั้น ในขณะที่ผู้ที่ขาดทุนเสมอๆ มักจะมีสภาวะจิตใจที่แย่ และคิดว่าความผิดพลาดของตนเองเกิดจากสิ่งอื่นๆ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ เขาจะลงทุนที่ผิดแล้วผิดอีก เพราะไม่เคยคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของตนเอง

นอกจากนี้ ได้มีผู้ไปสัมภาษณ์เซียนหุ้น เพื่อนำมาศึกษาว่ามีคุณสมบัติใดบ้างที่บันดาลให้เซียนเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้ 9 ข้อ ดังนี้

1. เซียนทุกคน มีความปรารถนาอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนซื้อขายหุ้น เขาฝันไกลและมุ่งไปให้ถึงดวงดาว

2. บรรดาเซียนทุกคน แสดงออกถึงความมั่นใจว่าเขาสามารถเป็นผู้ชนะติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน

3. ทุกคนค้นพบวิธีที่ใช้ได้ผลดีสำหรับตน และยึดติดกับวิธีการนั้นอย่างเหนียวแน่น ทุกคนถือว่าการยึดถือ วินัย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด คือยึดวินัยเป็นสรณะ ไม่อ่อนไหวตามลมปากคนอื่น

4. เป็นอิสระ ไม่ทำตามฝูงชน ไม่ทำตามขบวนแห่

5. บรรดายอดเซียนเอาจริงเอาจังกับการซื้อขายหุ้น เขาถือว่าการค้าหุ้นเป็นอาชีพ พวกเขาอุทิศเวลาเกือบทั้งหมดที่ตื่นอยู่ ให้กับการศึกษาวิเคราะห์ตลาด และกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้น เขาเอาใจจดใจจ่อตรวจตราโดยรอบคอบตลอดเวลา

6. เซียนทุกคนย้ำถึงความสำคัญของการอดทน ให้รอคอยจนถึงเวลาที่โอกาสเหมาะสมเปิดขึ้นแล้วจึงลงมือซื้อหุ้น

7. กุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งของทุกคน คือการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด หลักที่ทุกคนยึดถือเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเข้มงวด

8. ทุกคนตระหนักว่า เมื่ออยู่ในวงการหุ้นแล้ว ต้องมีวันขาดทุนบ้าง ถือว่าการขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของเกม

9. เซียนหุ้นทุกคน รักสิ่งที่ตนทำอยู่ คืองานค้าหุ้นเป็นชีวิตจิตใจ

จากบทความที่กล่าวมาข้างต้น คุณคิดว่าจะประสบความสำเร็จแบบเซียนหุ้นได้หรือไม่???
....คุณคงไม่ต้องตอบคำถามนี้กับใครหรอก เพราะทั้งหมดมันอยู่ที่ตัวคุณ!!!!

เรียบเรียง 2Binvestor
เครดิต : ส่วนนึงจาก wealth.co.th

3 ความคิดเห็น: