1 มีนาคม 2555

'ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา' เซียนหุ้น 'ไม่เต็มบาท'


เปิดแนวคิดกำไรหุ้น 5 เด้ง 'ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา' จากอดีตวิศวกรเดินสู่เส้นทางนักลงทุนผู้นิยมหุ้น 'ไม่เต็มบาท' ตั้งเป้าพอร์ตโต 10 เท่า ภายใน 5 ปี

ปิยะพันธ์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะก้าวเข้ามาเป็นนักลงทุนที่ชอบซื้อหุ้น "ไม่เต็มบาท" เคยมีอาชีพเป็น "วิศวกร" ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งทำงานอยู่กว่า 8 ปี พอประเทศไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง งานประจำที่ทำอยู่เริ่มมีความไม่แน่นอนต้องถูกย้ายไซต์งานบ่อยครั้งขึ้น จนต้องเดินเข้าไปหาหัวหน้าขอปรับเปลี่ยนสายงานมาเป็นฝ่ายจัดซื้อแทน ทำให้เริ่มสนใจการลงทุนตั้งแต่ตอนนั้น

“ผมได้มาเรียนรู้เรื่องธุรกิจมากขึ้น เช่น การสั่งซื้อเหล็กล่วงหน้าเขาทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน ทำไป 3-4 ปีก็เริ่มสนใจการลงทุน ทำงานไปแอบเล่นหุ้นไปบ้าง เริ่มต้นจากศึกษาด้วยตัวเองทุกอย่าง ตอนนั้น (ช่วงปี 2545) ตลาดหุ้นเพิ่งขึ้นมาตั้งแต่ 400-500 จุด คนเริ่มเข้ามาเล่นหุ้นกันเยอะมาก”

เข้ามาเล่นหุ้นใหม่ๆ ยอมรับว่านิยม "เล่นหุ้นร้อน" ชอบหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาตามข่าว แต่ตอนนั้นหุ้นขึ้นทุกวันได้กำไรทุกวันก็เริ่มมั่นใจแม้จะได้ไม่เยอะ ต่อมาเริ่มเห็นความจริงว่าบ่อยครั้งที่ "เจ้ามือ" (เจ้าของหุ้น) พยายามประโคมข่าวเพื่อ "ดันราคาหุ้น" แต่หลายครั้งก็ไม่เป็นตามนั้น (หุ้นไม่ขึ้น) หลังจากเคยได้กำไรทุกวันก็เริ่ม "ขาดทุน" และ "ขาดทุนมากขึ้น" ส่วนหนึ่งยอมรับว่า "เกิดความโลภ" ต้องการได้กำไรเยอะๆ ยิ่งอยากรวยเร็วก็ "ยิ่งเสีย"


"ผมเริ่มเสียหุ้นเป็น "หลักล้านบาท" ด้วยความที่เป็นวิศวกร (ต้องมีเหตุมีผล) จึงกลับไปทบทวนการตัดสินใจของตัวเองใหม่ ผมกลับมาถามตัวเองว่าเล่นหุ้นตามแผนหรือไม่ หรือเล่นตามอารมณ์ สุดท้ายพบว่าความโลภมันครอบงำจิตใจเรา ทำให้ต้องเล่นเร็วแถมไม่มีความสุขในการลงทุนด้วย"

เลือกทางเดินเล่นหุ้น 'ต่ำบาท'

บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งแรกที่หลงระเริงไปกับ "หุ้นปั่น" ทำให้ปิยะพันธ์ เริ่มทบทวนสไตล์การลงทุนของตัวเองใหม่ โดยให้เวลากับการ "เลือกหุ้น" มากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งนิสัยชอบ "ความเสี่ยง" (High Risk High Return) ในที่สุดก็ตัดสินใจโฟกัสไปที่ "หุ้นขนาดเล็ก" ราคา “ไม่เต็มบาท” โดยคัดเลือกหุ้นที่มีโอกาสเติบโตแต่ราคาหุ้นยังไม่ไปไหนมา 10-20 ตัว แล้ว "กรอง" จนเหลือเพียง 1-2 ตัว

หุ้นตัวแรกที่ลงทุนโดยแนวคิดนี้คือ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท (SPORT) เพราะราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ตอนนั้นต่ำมาก และปีนั้น (2549) จะมีฟุตบอลโลกด้วย ปกติหุ้นตัวนี้เวลามีการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ "มักจะขึ้น" (ดูสถิติข้อมูลย้อนหลัง)

"ผมเข้าไปซื้อช่วงเดือนมกราคม 2549 พอเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หุ้นก็เริ่มขึ้น ผมรู้สึกว่าตัวเองเดินมาถูกทางแล้ว ความเครียดในการลงทุนลดน้อยลง พอพอร์ตโตขึ้นผมเริ่มหันหลังกลับไปดูหุ้นที่เคยลงทุนน่าตกใจตัวเองว่าเลือกไปได้อย่างไรผลประกอบการแย่ (ห่วย) ราคาก็แพง”

รวยหุ้น 5 เด้งต้องมีหลักการ

หลักการเลือก "หุ้นเล็ก" ของปิยะพันธ์ ที่มีโอกาส "ป็อกหลายเด้ง" เขาจะให้ความสำคัญกับ "ราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชี" (P/BV) ต้อง "ต่ำมากๆ" แปลว่าบริษัทนั้นต้องมีปัญหาจนคน "ไม่กล้าซื้อ"

"ผมจะเข้าไปดูว่าปัญหาของบริษัทนั้นจบหรือยัง! และกำลังจะมี “ข่าวดี” เร็วๆนี้หรือไม่! เพราะผมก็ไม่อยากจะรอนานเหมือนกัน จะพูดว่าผมเล่นหุ้น "เทิร์นอะราวด์" ก็ใช่ พูดว่าเล่นตามข่าวหรือเล่นตาม "สตอรี่" ก็ใช่ แต่ผมไม่ได้เข้าไปตาม(ก้น)ใคร จะเข้าไป "ซื้อดัก" ไว้ก่อน ขอย้ำว่าไม่ใช้ข่าวอินไซด์แน่นอน”

เขาเล่าประสบการณ์ลงทุนช่วงที่ผ่านมา หุ้นสองตัวที่ทำให้พอร์ตโตขึ้นอย่างรวดเร็วคือหุ้นอสังหาริมทรัพย์ บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) กับ บมจ.ไรมอนแลนด์ (RAIMON) ช่วงที่หุ้นตกแรงๆ จากวิกฤติเลห์แมน บาร์เธอร์ส คัดเลือกหุ้นมาได้ 7 ตัว แต่เลือกลงทุนจริงแค่ 2 ตัว

“ผมเข้าไปซื้อหุ้นสองตัวนี้ตอนปี 2551 (วิกฤติซับไพร์ม) ได้กำไรรวมกัน 500% ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว”

ตอนตัดสินใจลงทุนหุ้น BLAND ปิยะพันธ์ ลงทุนขับรถสำรวจที่ดินของบริษัทบริเวณถนนศรีนครินทร์ เพื่อคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินที่ซ่อนอยู่ ปกติแล้วบริษัทจะไม่เปิดเผยมูลค่าที่ดินให้รู้ แต่ตอนนั้น (ปี 2551) บางกอกแลนด์กำลังจะออก BLAND-W2 ตามกฎของกลต.จะต้องเปิดเผยราคาที่ดินทั้งหมด

"ผมเข้าไปดูว่าราคาตาม Book เท่านี้ ไปเทียบกับราคาที่ดินแปลงข้างๆ พบว่าต่ำกว่าราคาตลาดตั้ง "เท่าตัว" ตอนนั้นราคาหุ้นต่อบุ๊คอยู่ที่ 0.3 เท่ามันต่ำมากๆ สองเด้งเลย รับรองว่าถ้าไม่โกงมโหฬารไม่เจ๊งแน่นอนแค่ขายที่ดินออกไปก็อยู่ได้แล้ว ผมซื้อหุ้น BLAND ที่ 0.20 บาท ไปขายที่ราคาเกือบ 1 บาท แถมด้วย BLAND-W2 ต้นทุน 0.03บาท ขายไปที่ 0.2 บาท”

ส่วนหุ้น RAIMON ลงทุนขับรถไปดูโครงการที่พัทยา ไปแอบสอบถามดูว่ามีคนจองแค่ไหนปรากฎว่าเต็มเกือบหมดแล้ว แถมราคาขายตารางเมตรละแสนบาท น้องๆคอนโดที่กรุงเทพ มั่นใจว่า Backlog มีแน่นอน ตอนนั้นช่วงวิกฤติไม่มีใครกล้าซื้อ แต่เขาเก็บเข้าพอร์ต ปัจจุบันทยอยขายออกไปเยอะแล้ว

ปิยะพันธ์ บอกว่า ส่วนตัวใช้แนวคิดการลงทุนแบบ "วีไอ" ในเรื่องของการ "เลือกหุ้น" ให้ดูที่กิจการไม่ใช่ราคาหุ้น แต่ยอมรับว่าการเลือกหุ้นบางครั้งต้องดู “เจ้ามือ” (เจ้าของเป็นใคร) ด้วย

“อยู่ในวงการนี้เราก็รู้กันว่าใครเป็นเจ้ามือบ้าง หุ้นตัวไหนนิสัยเป็นอย่างไร อดีตมันเคยมีคนเล่นอยู่แล้ว ผมเล่นหุ้นในมุมเจ้ามือถ้าเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้นก็ต้องทำให้ขาดทุนไว้ก่อน แต่สุดท้ายหุ้นมันต้องขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์ ผมก็จะซื้อดักก่อนแล้วไปทยอยขายตอนนั้น”

หุ้นสองตัวนี้ ปิยะพันธ์ บอกว่าเหลือในพอร์ตไม่เยอะแล้วตอนนี้จะเล่นแบบเทรดดิ้งเป็นรอบๆมากกว่า มีขายหมูไปบ้าง (หัวเราะ) อย่าง BLAND เคยกลับเข้าไปซื้ออีกรอบตอนราคา 0.60 บาท แล้วขายไปตอน 0.70 บาท ปรากฎขึ้นต่อไปถึง 0.8 บาท เป็นต้น

เล่นหุ้น 'ไม่เต็มบาท' ต้อง 'อึด'

ถามว่าไม่คิดจะเปลี่ยนสไตล์การลงทุนบ้างเหรอ เขาบอกว่า อนาคตเมื่อพอร์ตโตขึ้นซื้อตัวเล็กๆ ไม่ไหวอาจจะเปลี่ยนแนวทางก็ได้ อาจจะทำการบ้านน้อยลงเน้นหุ้นปันผลก็ได้ แต่ตอนนี้ขอโฟกัสที่หุ้นไม่ถึงบาทเพราะโอกาสที่หุ้นตัวใหญ่จะโตแบบ 400-500% "มันยาก" ก็ยอมรับว่าเล่นหุ้นตัวเล็ก "มันเสี่ยง" เวลาจะลงทรุดที 50% ก็เป็นไปได้

“บทสรุปผมเลยนะจะเล่นหุ้นแบบนี้ต้องอึด!! และต้องมีความสุขในการถือด้วย ถ้าต้องไปคอยลุ้นหน้าจอแบบนั้นไม่ใช่แล้ว ซื้อแล้วต้องถือรอได้”

ปิยะพันธ์ ให้มุมมองส่วนตัวว่า ตลาดหุ้นมี "จุดอ่อนในตัวเอง" เพราะราคาหุ้นหลายตัวไม่สะท้อนความเป็นจริงแต่เป็นไปตามสภาวะอารมณ์ของนักลงทุน บางครั้งเห็นของดีๆแต่ไม่กล้าซื้ออาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูล ที่ส่วนตัวตัดสินใจเข้าไปเพราะเห็นจุดอ่อนตรงนั้น จุดนี้อาจจะมองต่างจากพวกที่ใช้เทคนิคเข้าช่วย กลุ่มนั้นจะซื้อหุ้นตามแนวโน้ม "แพง" ไม่เป็นไรแต่อนาคตต้อง "แพงกว่า" จุดอ่อนคือซื้อของไม่ถูก แต่ข้อดีคือเงินไม่จมนาน

อย่างไรก็ตามปิยะพันธ์ ก็ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้าช่วยด้วย เพื่อช่วยตัดสินใจหาช่วงเวลาซื้อหรือขายหลังจากใช้การวิเคราะห์ทางพื้นฐานแล้ว เช่น แนวรับแนวต้านต่างๆ

"ถ้าหุ้นวิ่งยาว 3 วันทะลุแนวต้านนี่ผมก็ต้องขายแล้ว แต่ถ้ารอบใหญ่หน่อยจะดูเครื่องมืออย่าง MACD ประกอบ ตอนช่วงปี 2551 ช่วยได้เยอะ เพราะ MACD ตัดศูนย์ขึ้นแล้ว ความแม่นยำสูง แปลว่ากลับตัวขึ้นแน่นอน"

ปัจจุบันโฟกัสหุ้นอยู่ 2-3 ตัวเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หลักการยังเหมือนเดิมคือเป็นหุ้นตัวเล็กราคาไม่ถึงบาทในกลุ่มเทคโนโลยี บอกแต่เพียงสั้นๆว่า มีโอกาสเทิร์นอะราวด์ได้จากเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ตอนนี้ภาครัฐได้มีแผนจะติดตั้งทั่วประเทศแล้ว ส่วนตัวได้เข้าไปประชุมผู้ถือหุ้นรับฟังข้อมูลจากผู้บริหาร รับรองว่าไม่มีเจ๊งและน่าจะฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้

อีกตัวหนึ่งก็เทรดอยู่ราคาต่อบุ๊คแวลูที่ต่ำมาก เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะมีเพียงไม่กี่บริษัทในประเทศไทยที่ทำได้แถมยังมีหน่วยงานรัฐถือหุ้นด้วย มีโอกาสเติบโตได้ตามกฎระเบียบใหม่ของภาครัฐที่จะมีผลบังคับใช้เต็มตัว ธุรกิจนี้จะมีความจำเป็นมาก

ตั้งเป้าผลตอบแทน 10 เท่า ใน 5 ปี

ปิยะพันธ์ ให้มุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยว่า SET Index ที่ระดับเกิน 1,000 จุด มันเป็นตลาด "เทรดดิ้ง" ไปแล้ว ไม่เหมือนสมัยปี 2551-2552 ตอนนั้นหุ้นราคาถูกๆ มีเต็มตลาด แม้จะเป็นนักลงทุนเต็มตัวแต่ในพอร์ต ตอนนี้ไม่ได้มีเงินในหุ้น 100% เพราะจำเป็นต้องแบ่งเงินมาลงทุนกับเว็บไซท์สต็อกทูมอร์โรว์ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวด้วย โดยเฉพาะทำหนังสือต้องใช้เงินเยอะ ส่วนตัวคิดว่าถ้าจะนำเงินใส่ในหุ้น 100% เหมือนปี 2551 จะต้องเกิดวิกฤติขึ้นอีกสักรอบให้มีของถูกๆ อีกครั้ง

"ผมตั้งเป้าที่จะสร้างผลตอบแทนของพอร์ตให้โตขึ้นอีก 10 เท่า ภายในเวลา 5 ปี เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ด้วยแนวทางลงทุนที่เล่าให้ฟัง เมื่อถึงจุดนั้นอาจเปลี่ยนสไตล์การลงทุนอีกแบบทำการบ้านน้อยลงให้เวลากับอย่างอื่นมากขึ้น"

ส่วนทิศทางของเว็บไซต์ ปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งด้วยจำนวนสมาชิก 2,000 ราย มีผู้เข้าชมเว็บ 14,000 คนต่อวัน แต่สิ่งที่ภูมิใจกว่าคือมีส่วนได้สร้างสรรค์สังคมนักลงทุนที่ดีและมีคุณภาพให้สามารถอยู่รอดในตลาดหุ้นได้

“ที่นี่เรารวมคนเก่งไว้เยอะมากสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเองแล้ว อนาคตเรายังคงเดินหน้าผลิตหนังสือให้ความรู้และขยายธุรกิจไปทำอย่างอื่นเช่นรายการทีวี”

ปิยะพันธ์ บอกว่า อาชีพนักลงทุนเป็นงานที่อิสระสามารถสั่งให้เงินทำงานด้วยตัวเองได้ ส่วนตัวในฐานะที่เคยตัดสินใจออกจากงานประจำมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว อยากจะบอกผู้ที่กำลังตัดสินใจแบบเดียวกันว่าต้อง "ไม่ประมาท" ควรมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตได้ 5 ปี โดยไม่ได้ทำอะไร และต้องแยกเงินที่ใช้กับเงินลงทุนออกจากกันเด็ดขาด

“ที่สำคัญต้องมีแนวทางเป็นของตัวเองอย่าไปลอกคนอื่นมาหมด และต้องมีความสุขในการลงทุนเพราะถ้าเราไปจดๆจ้องๆกับกระดานหุ้นตลอดเวลา ชีวิตจะไม่มีความสุขและการตัดสินใจจะผิดพลาดได้ง่าย” เซียนหุ้น "ไม่เต็มบาท" กล่าวเตือนปิดท้าย


เครดิต : Bizweek

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น