ตอนที่ 1.ทางของเสือ
"...เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า...เรื่องนี้เรื่องจริง" การเดินทาง...ย่อมมีปลายทางฉันใด ชีวิตก็ย่อมมีจุดหมายฉันนั้น ตลอด 20 ปีของการเดินทาง บนเส้นทางที่เรียกว่า "ตลาดหลักทรัพย์" ที่เต็มไปด้วย "หลุมพราง" ของโอกาส ...กว่าจะก้าวมาเป็น "เซียนหุ้นพันล้าน" ชีวิตที่มาไกลเกินฝัน ระหว่างการเดินทางต้องผ่านพบอุปสรรคมานานัปการ "วิชัย วชิรพงศ์" หรือที่รู้จักกันในวงการว่า "เสี่ยยักษ์" รู้ดีว่าระยะทางพิสูจน์ม้า...กาลเวลาพิสูจน์ฝีมือ (คน) ก็จริง แต่ "ม้าแก่" ก็ใช่ว่าจะไม่มีวันโรยรา แม้จะเชื่อว่าอยู่ในสนามรบนี้ต้องอาศัย "ฝีมือ" 70% "โชคชะตา" อีก 30% แต่ใครบ้างจะรู้ว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งโชคชะตา จะผลิบานได้ตลอดไป"ถ้าคุณมี (เงิน) 2,000-3,000 ล้านบาท แล้วคุณจะเลิกมั้ย!" เสียงสะท้อนนี้ก้องขึ้นเรื่อยๆ ในความคิดของ "นายพราน" ที่มีสัญชาตญาณของนักล่ามาอย่างโชกโชน ด้วยเงินทุนเพียง 2 ล้านบาท วันนี้ "เสี่ยยักษ์" ประสบความสำเร็จในเส้นทางของ "เซียนหุ้นพันล้าน" ด้วยความภาคภูมิ เพื่อนๆรายใหญ่ต่างยกนิ้วให้ว่าเสี่ยยักษ์ผู้นี้นี่แหละ "เสือ" ในวงการหุ้นตัวจริง หนึ่งในกลุ่มเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นกันดี "เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุลหรือแม้แต่ "หมอยง" ทพ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม ก็เติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน ในห้องขนาดกะทัดรัด ณ ห้องวีไอพี บนชั้น 21 ของตึกอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ทำการโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ
"เล่นให้รวยต้องหาหุ้นในดวงใจให้เจอ" ที่จริงแล้ว "นายพราน" และ "ผู้ช่วย" กำลังแสวงหากำไรจากกฎ High Risk...High Return แสวงหาโอกาสจากความแปรปรวนของประสิทธิภาพตลาด แต่กระนั้นวิชัย วชิรพงศ์ก็ตระหนักว่าการตัดสินใจอะไรบ่อยๆย่อมพลาดท่าให้กับ "ความเสี่ยง" ไม่วันใดก็วันหนึ่ง "ผมอยากจะเลิกจริงๆนะ ไม่ใช่แบบว่าเราสร้างภาพจะเลิก เพราะคนเล่นหุ้นคนหนึ่งเล่นหุ้นมาจากเงินน้อยแล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เคยมีหุ้นระดับ 2-3 พันล้านบาท อาจจะกู้เล่นส่วนหนึ่งเงินสดส่วนหนึ่ง เป็นคุณจะเลิกมั้ย ไม่เลิกก็เล่นน้อยลง เพราะที่ผ่านมาเป็นกำไรของเราทั้งหมดแล้ว" เสี่ยยักษ์ บอกเหตุผลที่อยากจะเลิกเล่นหุ้น "...มันไม่ใช่กำไรแค่ร้อยเท่า คุณมีเงิน "พันล้าน" โตมาจากเงิน "2 ล้าน" มันโตเป็นพันเท่านะ" แม้ฟืนท่อนเล็กๆยังก่อเป็นเพลิงกองโตได้ฉันใด วัวแม้จะตัวใหญ่ แต่ก็ทับเห็บตัวเล็กๆไม่ตาย เสี่ยยักษ์ให้กำลังใจ...อย่าคิดว่าคุณเสียเปรียบรายใหญ่ ทางรวยของคุณ "มี"
ใครจะเชื่อว่าจากความฝันเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชีวิตนี้ขอมีเงินแค่ 3 แสนบาท มีรถยนต์โตโยต้าโคโรลล่าเก่าๆสักคัน "แค่นี้ชีวิตคงมีความสุขที่สุด..." เขาเล่าความฝันในวัยหนุ่ม วันที่เสี่ยยักษ์มีเงิน 100 ล้านบาทเขาให้รางวัลชีวิตด้วยรถยนต์ Mercedes-Benz ราคาคันละกว่า 4 ล้านบาท วันที่มีเงิน "พันล้าน" เขาตอบแทนความสำเร็จด้วยรถยนต์ "เฟอร์รารี่" สีแดงสดราคา 22 ล้านบาท ปัจจุบันวิชัยเตรียมหันเหชีวิตนักเล่นหุ้นไปเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีแผนจะพัฒนาที่ดิน 56 ไร่ ริมชาดหาดระยอง "สุดท้ายของชีวิตมันคืออะไร...คนเราสุดท้ายคืออะไร...วันหนึ่งคนเรากินเต็มที่ก็แค่วันละร้อยกว่าบาท แต่มาถึงตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว มันอยากเล่นเกมให้ชนะ" เขาบอก ก่อนที่จะโชว์รูปสมัยเด็กๆย้อนกลับไปเกือบ 50 ปีที่แล้ว ครั้งที่ยืนถ่ายกับรั้วบ้านสังกะสี ก่อนจะสื่อความว่า "...คนบ้านนอกที่มีฐานะธรรมดาๆ ยังสามารถเล่นหุ้นรวยเป็นพันล้านได้ ผมเชื่อว่าพวกคุณทุกคน ก็มีโอกาสรวยระดับร้อยล้านได้ทุกคน...อย่าเพิ่งท้อ" "เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า จริงๆนะครับ นี่เรื่องจริง" เซียนหุ้นพันล้าน เอื้อมมือไปหยิบ "
บัญชีกำไรขาดทุน" ในลิ้นชักขึ้นมาโชว์ พร้อมเล่าถึงความสำเร็จครั้งสำคัญของชีวิต ให้ฟังอีกว่า... ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ปี 2548 ผมได้กำไรมา 19 ล้านบาท ถึงสิ้นเดือนมีนาคม (มกราคม - มีนาคม ปี 2548) กำไรโตขึ้นมาเป็น 120 ล้านบาท พอสิ้นเดือนมิถุนายน (มกราคม - มิถุนายน ปี 2548) กำไร 366 ล้านบาท "ช่วงนั้นหุ้นปตท.มันขึ้นเยอะ" เขาเฉลย เมื่อถามว่าตั้งแต่เสี่ยยักษ์เล่นหุ้นมา 20 ปี ได้กำไรหุ้นตัวไหนมากที่สุด เขาตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "กำไรหุ้น ปตท. (PTT) ตัวเดียวประมาณ 700 ล้านบาท"
วิชัยเปรียบการเล่นหุ้นว่า เราต้องคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ การ "เบ่ง"ของวอลุ่ม จะต้องสอดคล้องกับ "การขึ้น" ของราคาหุ้น นักลงทุนที่ก้าวขึ้นมาเป็นรายใหญ่ ต้องเข้าใจหลักการข้อนี้ หุ้นจะเป็นขาขึ้น "ราคา" และ "ปริมาณ" จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากช่วยงานที่บ้านมา 10 ปีเต็ม ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปีใหม่มีวันหยุด 4 วัน ก็เป็นวันซ่อมเครื่องจักรประจำปี "ผมช่วยที่บ้าน 10 ปี ไม่เคยมีเงินเดือน หยิบเงินกงสีใช้ได้ แต่ไม่มีเงินเก็บ อยากจะใช้อะไรก็ใช้ไป ไม่เคยมีสมุดเงินฝากธนาคารเป็นของตัวเอง" จุดหักเหของวิชัยเกิดขึ้นเมื่อเขาจะแต่งงานกับว่าที่ภรรยาเป็นทันตแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นหลานสาวของศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี วิชัยเล่าว่า ในวันแต่งงาน นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัส "เงินล้าน" เงินสินสอดที่แม่ยกให้เอาไว้ทำทุนจำนวน 1 ล้านบาท "ตอนแต่งงานกัน เราสองคนมีสินสมรสรวมกัน 2.6-2.7 ล้านบาท ผมจำได้ว่านับมันอยู่นั่นแหละ" แม้เขาจะมองว่าเงินก้อนนี้ไม่มาก แต่ก็ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากแต่งงานกัน ภรรยาช้างเท้าหลังต้องเสียสละ ย้ายงานจากโรงพยาบาลราชวิถี มาช่วยราชการอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอเสนา แต่ไปประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ประจำตำบล ตำแหน่งอะไรก็ไม่มี วิชัยจึงยกย่องในความเสียสละของภรรยาคนนี้อย่างมาก แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ทั้ง 2 คนคาดหวัง ดั่งภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า "หวานมาจากขม...สุขมาจากทุกข์" ชีวิตที่ยังไม่ได้ลิ้มรสความล้มเหลว จะรู้จักความงดงามของความสำเร็จได้อย่างไร... "ตอนนั้นเรามีโครงการกันว่า จะเปิดคลินิกทำฟันในอำเภอเสนา ตกแต่งร้านไป 2-3 แสนบาท พอทำคลินิกเสร็จ ช่วงนั้นลูกสาวอายุ 9 เดือน ยังไม่ได้ทันรักษาคนไข้สักคน ไฟก็ไหม้ตลาดอำเภอเสนา บ้านผมเป็นตึกแถว 2 ห้องอยู่ในตลาด..หมดเกลี้ยง!!!"
เขาเล่าว่า เอาออกมาได้แค่รถมอเตอร์ไซค์ รีบคว้าตัวลูก แล้วก็เอาเสื้อผ้าของใช้ของลูกสาวมาได้เพียงลิ้นชักเดียว แต่ของเรา 2 คน ไม่ได้เอาอะไรติดตัวออกมา ห่วงแต่ของลูก วิชัยสะท้อนภาพภายใต้กระจกเงาชีวิตที่มัวหมองในขณะนั้นว่า ตอนนั้นในใจก็คิดว่า..โห! ทำไมชีวิต(กู)มันถึงบัดซบขนาดนี้ เรากำลังจะดีขึ้นอยู่แล้วเชียว "โชคชะตาทำไมเล่นกับพวกเราแรงขนาดนี้..." เขารำพึง ช่วงนั้นไม่รู้จะไปนอนกันที่ไหน วิชัยต้องไปขออาศัยอยู่กับบ้านพี่ชาย พ่อ-แม่-ลูก ขึ้นไปอยู่ชั้น 4ชั้นบนสุดของตึกแถว ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลมติดเพดาน ส่วนที่นอนก็ปูเอากับพื้นไม่มีเตียง มีผ้าม่านสีเขียวบางๆ ห้องนอนค่อนข้างคับแคบ ทั้ง 3 ชีวิตต้องทนอยู่ห้องนั้นประมาณ 1 ปี
"เรานอนมองพัดลมบนเพดานกันทุกวัน..ทนไม่ไหว ผมไม่เป็นไร สงสารแต่ภรรยากับลูก เลยให้เขากับลูกย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพ มาอยู่กับพ่อแม่เขา แล้วให้ย้ายกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลราชวิถี ผมจะมาหาเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์" วิชัยให้สัญญากับภรรยาว่า เดี๋ยวจะตามไปอยู่ด้วย ทั้งๆที่ก็ไม่รู้ว่าจะตามไปยังไง จะไปทำอาชีพอะไร? ยังไม่รู้
"ชีวิตคนเราขอให้ชนะอะไรสักครั้งหนึ่ง เราจะไม่กลัว แล้วชีวิตเราจะชนะอยู่เรื่อยๆ" เขาย้ำ จังหวะนั้นรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำโรงงานเส้นหมี่ด้วยกัน อยากจะออกไปขาย "ฟู้ดเคมิคอล" เป็นพวกเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร วิชัยสนใจจึงเอาทุนก้อนหนึ่งมาเปิดโรงงานที่กรุงเทพฯ ใจหนึ่งก็คิดว่าดีเหมือนกันจะได้อยู่ใกล้ลูกเมีย ขณะนั้นมีลูกน้องจบ Food Science (เทคโนโลยีทางอาหาร) สองคน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับบริษัท ช่วงแรกๆธุรกิจก็ไปได้ดี แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องเซ้งกิจการให้กับลูกน้อง พวกสินค้าเคมีตัวเล็กๆ ที่หิ้วไปขายได้กำไร 20-30% ลูกน้องจะรับออเดอร์เอาไว้เอง แล้วส่งออเดอร์สินค้าตัวที่กำไรน้อยต้องส่งเป็นเบราท์ใหญ่ๆ อย่างพวกแป้ง หรือวัตถุดิบที่ต้องใช้รถบรรทุกไปส่ง กำไรประมาณ 8% ก็ส่งออเดอร์ให้บริษัท ที่สุดเถ้าแก่วิชัยก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ครั้งใหม่ว่า...คุณจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเจ้าของทำเองไม่เป็น แล้วต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด คิดอยู่หลายตลบ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า "ถอยดีกว่าเรา"
------------------------------------------------------
ตอนที่ 2 รู้ไม่จริง
------------------------------------------------------
ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด"คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง" โดยพื้นฐานแล้ว "ความสำเร็จ" ไม่ได้ยากไปกว่า "ความล้มเหลว แต่ทำไม!นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น จึงมักสัมผัสรสชาติของการ "ขาดทุน"มากกว่า "กำไร"วิชัยสรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายว่า "เพราะคุณ...รู้ไม่จริง" เขาบอกว่า นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องค้นให้พบแนวทางของตัวเอง มีต้นแบบได้ แต่ต้องไม่ใช่การลอกเลียนแบบผู้อื่น..ต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ "ลองถามตัวคุณเองว่า เป็นอย่างนั้นหรือไม่...ถ้าใช่! ต้องรีบหาแนวทางของตัวเองให้เจอ" วิชัยเล่าหนทางเข้าสู่ตลาดหุ้นครั้งแรกในชีวิต ช่วงนั้นมีญาติฝั่งภรรยาเอาหุ้นจองธนาคารมหานคร (ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว) มาให้จำนวน 1 แสนหุ้นที่ราคาไอพีโอ 6บาท หลังจากหุ้นตัวนี้เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาวิ่งขึ้นไป 7.5 บาท ได้กำไรมาประมาณ "แสนห้า" เราก็คิดว่า เอะ! ในโลกนี้มีวิธีหาเงินง่ายๆ อย่างนี้ด้วย!!! ความสนใจเรื่องหุ้นของวิชัย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ยังช่วยงานกงสี สมัยก่อนยังไม่มีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระหว่างที่อ่านละครในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ทุกๆ วันก็จะพลิกไปดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ความสนใจยิ่งทวีมากขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์ Black Monday (วันจันทร์ทมิฬ 19 ตุลาคม2530) ช่วงนั้นหุ้นขึ้นมาตลอด วิชัยตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดอยุธยา เข้ามากรุงเทพฯ หาซื้อหนังสือวิธีการเล่นหุ้นกลับไปอ่าน และสนใจศึกษาตำราการเล่นหุ้นของบุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายต่อหลายคน เขาบอกว่า เรื่องหุ้นถือเป็นเรื่องไกลตัวในตอนนั้น ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลย พอศึกษาไประยะหนึ่ง ก็คิดว่าตัวเองรู้ดีแล้ว เก่งแล้ว เซียนหุ้นพันล้าน เล่าว่า เคล็ดลับการเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จที่อ่านเจอจากตำรา บอกว่าหุ้นจะมี Cycle (วัฏจักร) หรือ "รอบ" ของมัน คุณต้องรอให้มันตกก่อนคุณค่อยเข้ามาเล่น ช่วงนั้นก็รออย่างเดียว..เชื่อว่า "เดี๋ยวมันต้องพัง" "ผมก็ทำตามตำราเป๊ะ ! พอ Black Monday หุ้นตกหนัก เราก็เข้าไปลุยเลย เลือกซื้อแต่หุ้นค่าพี/อี ต่ำๆ สมัยนั้นก็หุ้นแบงก์ทั้งนั้น ซื้อไปแล้วมันก็ไม่ขึ้น...หุ้นตัวอื่นขึ้น หุ้นเราก็ไม่ขึ้น" ประสบการณ์ขาดทุนครั้งแรก เอาเงินมาเล่น 2 ล้านกว่าบาท ขาดทุนไป 5 แสนกว่า นั่งมองคนอื่นกำไร ตัวเองขาดทุน เพราะเล่นแต่หุ้นแบงก์ค่าพี/อี ต่ำๆ สุดท้ายก็รู้ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล คนส่วนใหญ่เขาไม่คิดเหมือนเรา ในที่สุดก็ตัดสินใจ "ล้างพอร์ต" "ในใจตอนนั้นคิดว่า..ไม่ไหว เราสู้เขาไม่ได้จริงๆ เมื่อสู้ไม่ได้เราต้องถอย..อย่าฝืน" วิชัยบอกว่า ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น..มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง"
เมื่อมีโอกาสกลับบ้านที่จังหวัดอยุธยา วิชัยก็เล่าประสบการณ์ "ขาดทุน" ให้พี่ชายฟัง พี่ชายก็บอกว่า มันต้องจ่ายค่าเทอมก่อน "คุณยังไม่มีประสบการณ์เลย คุณต้องขาดทุนก่อน ในชีวิตจริงต้องเป็นอย่างนั้น นักลงทุนมือใหม่ "ขาดทุน" ถือเป็นเรื่องปกติ" เขาสรุปข้อผิดพลาดในครั้งแรกว่า เป็นเพราะว่าเรารู้แค่ในทฤษฎี ในทางปฏิบัติจริงต้องอาศัยการพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ การเล่นหุ้นขาดทุน แสดงว่า "คุณยังรู้ไม่จริง" หลังจากจ่ายค่าเทอมแพง วิชัยตัดสินใจที่จะกลับมาสู้ใหม่ ครั้งนี้เขาให้สัตย์ปฏิญาณไว้กับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งคนอื่นทำงาน 8 ชั่วโมง เราต้องทำงาน 10 ชั่วโมง ต้องกลับมา "ชนะ" ให้ได้ ในที่สุดก็พบว่า วิธีที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ต้องเอาชนะความมุ่งมั่นของตัวเองให้ได้เสียก่อน ในช่วงที่ยังเป็นมือใหม่ในตลาดหุ้น หลังจากไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนตอน 7 โมงครึ่ง วิชัยต้องรีบบึ่งรถมาที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ไปถึงประมาณ 8 โมงเช้า ถึงก่อนมาร์เก็ตติ้งเกือบทุกเช้า เมื่อไปถึงก็จะนั่งดูข้อมูลหุ้นให้ได้มากที่สุด และจะปฏิบัติเช่นนี้ในทุกๆวัน เขาบอกว่า อยู่ในตลาดหุ้นอย่าคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ยังมีคนที่รู้มากกว่าและเก่งกว่าเราตั้งเยอะแยะ เราต้องรู้ให้ได้ว่าหุ้นที่เราจะซื้อ...เราซื้อเพราะอะไร ? เราต้องตอบให้ได้ว่า หุ้นตัวนี้มันจะขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ? ถ้าคุณตอบได้ โอกาส "ชนะ"ก็มีมากกว่าครึ่ง "คนจะเกิด(ในตลาดหุ้น)มันต้องเกิดจากการไขว่คว้า...ไม่ใช่ฟลุ้ค!"
วิชัยเล่าต่อว่า สมัยก่อนการเล่นหุ้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีกราฟราคาหุ้นให้เคาะดูง่ายเหมือนทุกวันนี้ จะใช้วิธีการจำราคาหุ้น แล้วไปซื้อสมุดกราฟแผ่นใหญ่ๆ มาพ็อตกราฟราคาเอง หุ้นตัวไหนที่เราสนใจก็จะพ็อตกราฟมาติดไว้ข้างฝาเล็งมันทุกวัน สมัยนั้นยังไม่มีรีเสิร์ชหรือบทวิจัยแพร่หลายหาอ่านง่ายอย่างในสมัยนี้ นักลงทุนรายย่อยต้องรอให้ "มาร์เก็ตติ้ง" มาบรีฟ (สรุปข้อมูล) ให้ฟังอีกทีหนึ่ง
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน รายย่อยจะมองมาร์เก็ตติ้งเป็นพระเจ้า เขาเล่าว่า ขำที่สุด..สมัยก่อนผมรู้จักมาร์เก็ตติ้งอยู่ไม่กี่คน ตอนนั้นเล่นหุ้นอยู่ที่ บล.ธนสยาม เล่นช่วงแรกๆขาดทุนจนเราท้อ เคยไปคุยกับมาร์เก็ตติ้งว่า...เธอมาบริหารพอร์ตให้ฉันหน่อยสิ ! ...ในสายตาตอนนั้น ผมมองมาร์เก็ตติ้งว่าต้องเล่นหุ้นเก่งมาก เพราะเรายังมองหุ้นไม่ออก ผิดกับเดี๋ยวนี้มาร์เก็ตติ้งรุ่นเก่าๆ ต้องโทรศัพท์มาถามว่าช่วงนี้เล่นหุ้นยังไง มีหุ้นอะไรเด็ดๆ อย่าลืมบอกกันด้วยนะ วิชัย วชิรพงศ์ เฉลยว่า ที่จริงความรู้เรียนทันกันได้ ประสบการณ์ก็เรียนรู้ได้ แต่อุปนิสัยกับวิธีคิดของคนเรา "เปลี่ยนไม่ง่าย" เราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความผิดพลาดของเราเอง อย่าไปโทษคนอื่น นำกลับมาแก้ไข เชื่อผม! แล้วคุณจะเล่นหุ้นเก่งขึ้น
------------------------------------------------------
ตอนที่ 3 ทางลัดของมือใหม่
------------------------------------------------------
"สมัยที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ผมใช้..ผมจะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน" ระหว่างการฝึกฝนตนเองของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ห้องเรียนแห่งประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาก็คือ การเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจาก "คนใกล้ตัว" เคล็ดลับที่วิชัยใช้เอาตัวรอดในสมัยที่ยังเป็นมือใหม่ ไม่ต่างอะไรกับการ "เข้าถ้ำเสือ" ขโมยความรู้จากคนที่เป็น "มืออาชีพ" วิชัยบอกว่า ตอนที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง ยังอ่านทิศทางหุ้นไม่ออก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะใช้วิธี "ลอกข้อสอบ" จากคนที่เก่งกว่าเรา ความจริงที่ใครๆก็รู้ นักลงทุนรายใหญ่มักจะ "จมูกไว" มีช่องทางในการรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วกว่ารายย่อย "ช่วงที่เรายังเรียนหนังสือไม่เก่ง ผมจะใช้วิธีลอกข้อสอบ คิดถึงสมัยเรียนหนังสืออยากสอบให้ผ่านก็ต้องแอบมองข้อสอบคนอื่น แต่คุณอย่าไปลอกข้อสอบคนที่เรียนไม่เก่ง เราต้องลอกข้อสอบจากคนที่เก่งกว่า" เขาแนะนำ
วิชัยถ่ายทอดประสบการณ์ต่อว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นใหม่ๆ นักเล่นหุ้นทุกคนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่า "เราต้องได้กำไร" ไม่มีใครคิดหรอกว่าเราจะเล่นหุ้นขาดทุน แล้วส่วนใหญ่ยังเพ้อฝันว่าจะร่ำรวยในเวลาสั้นๆ วิธีคิดจะตรงข้ามกับนักเล่นหุ้นมืออาชีพ เขาจะยึดอยู่บนพื้นฐานของตลาดหุ้น ณ ขณะนั้น เสี่ยยักษ์กล่าวว่า สมัยก่อนที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ใช้ ผมจะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒ
นาตัวเองตามให้ทัน ...สมัยก่อนจะนับถือ “เฮียชัยโรจน์”มาก แกเป็นนักลงทุนธรรมดาๆ ที่เล่นหุ้นจนร่ำรวย แสดงว่าเขาเก่งจริง เท่าที่สังเกตนิสัย เฮียชัยโรจน์ จะต่างจากนักเล่นหุ้นคนอื่น พอตลาดหุ้นปิด นักเล่นหุ้นคนอื่นจะชวนกันไปกินเหล้าสังสรรค์เฮฮา แต่เฮียชัยโรจน์จะนั่งอ่านงบการเงิน..ศึกษาข้อมูลหุ้นตลอด
ช่วงนั้น วิชัยจะพยายามเก็บความรู้จากเฮียชัยโรจน์ให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาคิดต่อว่าเขามีวิธีการมองตลาดหุ้นอย่างไร เขามีเหตุผลอะไร เขาจะเลือกเล่นหุ้นแบบไหน ทำไมถึงซื้อหุ้นตัวนี้ ถึงจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่นับว่าสำคัญมากสำหรับนักเล่นหุ้นมือใหม่ "รับประทานข้าวเที่ยงหนึ่งวัน เขาพูดมาหนึ่งคำ ผมก็เก็บเอามาคิดตาม ฟังเขาคุยก็เริ่มรู้ว่านักลงทุนรายใหญ่เขาเล่นหุ้นกันอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร ...ช่วงนั้นผมก็ไปเข้าคอร์สเรียนวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิเคิล พยายามหาวิธีพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เวลาเขาบอกว่าหุ้นตัวนั้นดี ไม่ใช่จะเชื่ออย่างเดียว ก็รีบไปศึกษาว่าหุ้นตัวนั้นดีจริงอย่างที่เขาพูดมั้ย เราต้องไปทำการบ้านต่อ
------------------------------------------------------
ตอนที่ 4 พายเรือตามน้ำ
------------------------------------------------------
สมมติว่า ขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน หลักการเล่นหุ้นข้อหนึ่งที่ วิชัย วชิรพงศ์ พยายามย้ำ...ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด "เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ" "หลักการเล่นหุ้น..คุณอย่าพยายามฝืนภาวะตลาด" เสี่ยยักษ์ เน้นย้ำ..
จากประสบการณ์..ในตลาดหุ้น 20 ปี เซียนหุ้นพันล้านแนะนำว่า หุ้นที่เล่นแล้วได้กำไรมากกว่าขาดทุน จะเป็นหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ...เราต้องพยายามอ่านหลักจิตวิทยาของตลาดว่า คนอื่นเขาคิดอย่างไร..? กับหุ้นตัวที่เราจะเล่น อย่าพยายาม "คิดเอง-เออเอง" คนเดียว "สมมติว่าขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน" วิชัยบอกว่า การเล่นหุ้นฝืนทิศทางตลาด..เล่นแล้วมันเหนื่อย !!! เหมือนการขึ้นรถผิดคัน ทำไม! รถคันนี้มันถึงไม่ออกจากท่ารถสักที เรารอแล้วรออีก คันนี้ก็ไป คันนั้นก็ไปก่อน
คำเปรียบเทียบที่เซียนหุ้นรายนี้บอกให้ฟัง การเล่นหุ้นที่จริงมันเป็นแฟชั่น คุณไปเที่ยวทะเลคุณต้องใส่ขาสั้นไป ถ้าคุณใส่กางเกงยีนส์สวมรองเท้าบูต มันไม่เข้ากัน ถ้าวันไหนอากาศหนาว (สภาวะตลาดไม่ดี จะขึ้นเหนือก็ต้องใส่เสื้อแจ๊คเก็ต ระวังตัวเอาไว้หน่อย แต่เราดันใส่ขาสั้นไปเที่ยวเหนือตอนอากาศหนาว..มีแต่เจ๊ง! "เราต้อง Follow the Trend หรือซื้อตามแนวโน้มตลาด" คำว่า "รู้จริง" จะต้องเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การที่คุณอ่านหนังสือเท่ากับรู้แค่
ทฤษฎี ยังถือว่า "รู้ไม่จริง" ต้องเอา 2 อย่างนี้มาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ประเด็นนี้ วิชัยมองว่า ประสบการณ์ชีวิตของนักเล่นหุ้นแต่ละคน บางครั้งก็อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ เพราะทัศนคติที่ติดตัวมาในอดีตของแต่ละคน เมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้น มักจะมีผลต่อพฤติกรรมการลงทุน ทำให้ปฏิกิริยาในการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละคนแตกต่างกันคนละขั้ว ทั้งๆที่เรียนรู้มาจากตำราเล่มเดียวกัน เพราะฉะนั้น นักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จ...คุณต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ เมื่อวานนี้..คุณอาจจะมองว่าหุ้นตัวนี้ดี วันนี้..คุณอาจจะมองหุ้นตัวเดียวกันว่ามันไม่ดีแล้วก็ได้ อย่าคิดว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีหลักการ "ในเมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยน...วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน ทำไมคน 2 คน มาจากพื้นฐานเดียวกันทุกอย่าง คนหนึ่งเล่นหุ้นได้กำไร อีกคนหนึ่งเล่นหุ้นขาดทุน ก็เพราะทัศนคติของคน 2 คนนี้แตกต่างกัน" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง
แม้ว่าวิธีคิดของคนเรา "เปลี่ยนยาก" ก็จริง แต่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ สำคัญที่สุดเราต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเราเอง..อย่าโทษใคร? เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ประสบการณ์ที่ผิดพลาดจะเป็นบทเรียนสอนคุณเอง..ถ้าคุณยอมรับมัน และพร้อมที่จะแก้ไข คุณจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามัวแต่นั่งโทษคนนั้นคนนี้ โทษไอ้นั่น โทษไอ้นี่ คุณจะไม่มีวันพัฒนาตัวเอง...
"หุ้นเวลาเป็น "ขาลง" (Bearlish Down Trend) เราต้องตัดทิ้ง อย่าถือ และอย่าซื้อถัวเฉลี่ย" วิชัย เปรียบเทียบคนที่ติดหุ้นไว้อย่างเจ็บปวดว่า เปรียบเสมือนคนที่เคยไปกินอาหารป่า ร้านที่เขามีเนื้อตะพาบน้ำขาย "ผมจะอธิบายลักษณะของคนที่ "ติดหุ้น" อย่างเจ็บแสบที่สุดให้ฟัง" สมมติว่าร้านอาหารป่ามีตะพาบน้ำไว้ขายลูกค้าอยู่ตัวหนึ่ง วันนี้ผมไปสั่งตะพาบน้ำผัดเผ็ด 1 จาน ตะพาบน้ำตัวนี้มันใหญ่ผัดทั้งตัวไม่หมด พ่อครัวก็จะเฉือนเอาเนื้อข้างๆ แต่ตะพาบตัวนั้นมันยังไม่ตาย มันก็ทุรนทุราย เอามาผัดให้เรากินจานหนึ่ง สภาพของตะพาบน้ำตัวนั้น มันหงายท้องนอนพะงาบๆ ลืมตาอยู่แต่มันยังไม่ตาย นี่คืออาการของคน "ติดหุ้น" "นี่ผมพยายามจะเล่าให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด" วันที่ 2 ไม่มีคนมากิน ตะพาบก็พะงาบๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนคนติดหุ้นที่รอวันตาย แต่มันไม่ตาย มันทุรนทุราย ชีวิตไม่มีความสุข เครียดไปหมด วันที่ 3 พอมีคนมาสั่งเนื้อตะพาบน้ำผัดเผ็ดอีก 1 จาน พ่อครัวคนเดิมก็เฉือนเนื้อของมันอีกข้างหนึ่ง มันก็ยังไม่ตายอีก แต่คราวนี้มันเจ็บเจียนตาย สภาพของคนติดหุ้นจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ "ผมอยากจะให้กำลังใจว่า ตั้งแต่ผมเป็นนักลงทุนรายย่อย จนมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ ผ่านมาหมด หลายๆคนบอกว่าเป็นรายใหญ่ได้เปรียบ จริงๆไม่ใช่เลย รายย่อยต่างหากที่ได้เปรียบรายใหญ่"
...คุณซื้อหุ้น 1 ครั้ง คุณได้หุ้นเต็มพอร์ต คุณขาย 1 ครั้ง คุณขายได้หมดพอร์ต ถ้าเกิดเป็นรายใหญ่ เขาจะซื้อขายกันทีเป็น "ร้อยล้านหุ้น" ผมก็เคยมีหุ้นร้อยกว่าล้านหุ้น แล้วจะขายได้ยังไงหมด อย่างกรณีของหุ้นไออาร์พีซี (IRPC) มี Bid เสนอซื้ออยู่ 3 ช่อง ขายทีเดียว 3 ช่อง ยังไม่หมดเลย เพราะรวมกัน 3 ช่อง มี Bid แค่ 10 กว่าล้านหุ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนรายย่อยใครว่าเสียเปรียบ...ไม่จริงเลย"
ตอนที่ 5 ไปจ่ายตลาด
------------------------------------------------------
การตีกอล์ฟไกลๆลงหลุม "โฮลอินวัน" นั่นคือ...โชคชะตา แต่การที่คุณตีกอล์ฟไปตกให้ห่างจากธง 2 ฟุต นั่นคือ...ฝีมือ ในสนามรบที่เรียกว่า "ตลาดหุ้น" วิชัย วชิรพงศ์ มีความเชื่อลึกๆว่า คนที่จะประสบความสำเร็จยืนอยู่บนสังเวียนนี้ได้ยาวนาน จะต้องอาศัย "ฝีมือ" 70% ...อีก 30% เป็นหน้าที่ของ "โชคชะตา" "การตีกอล์ฟไกลๆลงหลุม (โฮลอินวัน) นั่นคือ โชคชะตา นั่นคือ ฟ้าลิขิต แต่การที่คุณตีกอล์ฟไปตกให้ห่างจากธง 2 ฟุต นั่นคือ ฝีมือ"
เขาบอกว่า การเล่นหุ้นก็เหมือนกัน ทุกคนจะมีจังหวะฟ้าลิขิต...ทุกคนต้องเคยได้รับโอกาสนั้น แต่คุณจะตักตวงมันได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง วิชัย เปรียบคนเล่นหุ้นเหมือนการเปิดร้าน "โชห่วย" เราต้องหาสินค้าเข้ามาขายทำกำไร เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ได้กำไร...เราต้องอย่าใจร้อน ต้องเลือกสินค้าที่ดีๆ ซื้อเข้าร้านใน Timing (จังหวะ) ที่เหมาะสม "ในตลาดหุ้นเขาพูดกันว่า มันมีอันตราย "ผีดุ" ถ้าช่วงไหนที่โบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์ออกมาเตือนว่า มันเป็นช่วงอันตราย เราก็อย่าเพิ่งไปซื้อมัน อย่าเล่นแบบ "ทุ่มสุดตัว" คนที่มีฝีมือจะต้องรู้จัก Timing หรือเวลาไปจ่ายตลาด ใครเก่ง-ไม่เก่ง วัดกันตรงนี้" จากประสบการณ์ 20 ปี ในวงการนี้ จะซื้อหุ้นให้ได้กำไร เราต้องกล้าไปจ่ายตลาด "ตอนประมาณ ตี 5" หรือ อีก 1 ชั่วโมงฟ้าจะสว่าง...ผีไม่มี ใครซื้อหุ้นได้จังหวะนี้...ดีแน่! คุณได้เลือกของดี ได้ซื้อของสด ราคาไม่แพง ได้เลือกของก่อนคนอื่น รถไม่ติด คุณจะได้เปรียบเรื่อง "ต้นทุน" แต่คนที่จะเข้าใน "จังหวะ" นี้ได้ จะรู้ว่าตอนนี้กี่โมงต้องอาศัยเครื่องมือทาง "เทคนิเคิล" มาช่วยในการคลำหาตำแหน่งเวลาร่วมกับ "ประสบการณ์" ของแต่ละคน
"ถ้าตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาลง หรือ มีภาวะอึมครึมมาแล้วพักใหญ่ ในขณะที่เครื่องมือทางเทคนิค อาทิเช่น RSI, MACD ยืนยันสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม เช่น การเกิด Divergence หรือ สัญญาณขัดแย้ง เราต้องเตรียมตัวซื้อหุ้น เพราะฉะนั้น ช่วงตี 5 ถึงตี 5 ครึ่ง...คุณต้องกล้าซื้อ" เซียนหุ้นพันล้าน อธิบายว่า ถ้าเราไปจ่ายตลาดตอน 8 โมงเช้า คนก็เยอะ สินค้าก็ไม่สด หุ้นมันขึ้นไปตั้งนานแล้ว คุณเพิ่งจะมาซื้อตอนคนอื่นเขากำลังจะกลับบ้าน รายใหญ่เขารอ "ออกของ" กันแล้ว สิ่งที่เซียนหุ้นรายนี้ เน้นย้ำก็คือ "จุดซื้อ" คุณอาจจะใช้ "เทคนิเคิล" ช่วย แต่การขึ้นของหุ้นรอบใหญ่ๆ หรือ Major Up Trend (ทุกครั้ง) หลักการวิเคราะห์หุ้น เราต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานมาเลือกหุ้น
"ทุกอย่างมันต้องมาจากพื้นฐานก่อน แต่การดูพื้นฐานอย่างเดียวถ้าไม่ใช้เทคนิเคิลช่วย...เปรียบเสมือนคุณขึ้นรถเมล์ คุณจะไปสะพานตากสิน คุณกลัวร้อนคุณก็ไปนั่งรอในรถเมล์คันที่มันสตาร์ทเครื่องเอาไว้แล้ว แต่มันไม่ออกจากท่า (รถ) สักที... "...ที่มันไม่ออกเพราะจังหวะมันผิด มันเร่งเครื่องบรื้อๆแต่ไม่ออก คันข้างๆออกไปแล้วเว้ย! คันเราก็ไม่ไป นั่งรอมีแต่กระเป๋ารถขึ้นมาเขย่าตั๋ว แต่ก็ไม่ออก เราจะคิดทันทีว่า "ต้องลง" ไม่ใช่คันนี้แน่...ขึ้นผิดคัน ...พอเราลง เปลี่ยนคันไปขึ้นคันใหม่ คันเดิมของเราดันออก" วิชัย บอกว่า คนเล่นหุ้นทุกคน โดนกรณีอย่างนี้มาหมด เพราะฉะนั้นการหาจังหวะเข้าลงทุน...ต้องใช้เทคนิเคิลมาช่วย
"เวลาเลือกหุ้นให้ใช้พื้นฐาน แต่จังหวะซื้อต้องใช้เทคนิเคิล" เขาเน้นย้ำ ยิ่งตอนขายหุ้นเทคนิเคิลไม่เคยหลอกเลย ถ้าเราถอยหลังย้อนกลับไปได้ เราต้องกลับไปทบทวนตัวเองให้ดีๆ
"ผมขอแนะนำให้จดไดอารี่ทุกวัน นั่นคือการทบทวนตัวคุณเอง คุณจะได้เก็บเอาไว้อ่าน คุณเจ็บตรงไหน วันนี้คุณโดน (เทคนิเคิล) หลอกอย่างไร?" เขาอธิบายว่า ข้อผิดพลาดของนักลงทุน มักมาจากความ "ดื้อรั้น" ของตัวเอง เทคนิเคิลมันตัดลงมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าเรายังดื้อ ยังเล่นอยู่ แสดงว่า "คุณผิดเอง ตลาดไม่ผิด" ที่ผ่านมา ชีวิตพวกเราคนเล่นหุ้นทุกคน ถ้าใครเคยผ่านมาในระยะ 10 ปีนี้ (2540-2549) วิชัยกล้าพูดได้ว่า "เฉียดรวย" ทุกคน...เฉียดรวยมาหมด
...เมื่อก่อนหุ้นธนาคารเกียรตินาคิน (KK) สมัยที่ยังเป็น บงล.เกียรตินาคิน ราคาหุ้นขึ้นมาประมาณ 40 เท่า (จาก 2 บาทขึ้นไป 80 บาท) นักลงทุนรายใหญ่เคยเล่นหุ้นตัวนี้มาแล้วทุกคน วิชัยยืนยันว่า ทุกครั้งที่ดัชนี SET ขึ้นรอบใหญ่ๆ หรือ Major Up Trend จะต้องมีหุ้น "ดาวเด่น" ของมันอยู่ เราจะต้องคลำหาให้เจอ ต้องไขว่คว้าให้เจอ ในรอบที่ผ่านมาเท่าที่จำได้มีหุ้น อะโรเมติกส์ (ATC) จาก 3 บาท ขึ้นไป 75 บาท พวกรายใหญ่ทุกคนซื้อหมดแถวๆ 3 บาทมาขายที่ 4 บาท คนที่ขายก่อน ก็แค่ "เฉียดรวย" "ตรงนี้จะวัดผลแพ้-ชนะ วัดว่าใครฝีมือจริง" วิชัยย้ำว่า นักลงทุนรายย่อยทุกคน มีสิทธิรวยได้...เชื่อผม! แต่ต้องขยัน ต้องทุ่มเท ต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ "...คุณต้องพยายามเข้ากลุ่มให้ได้ พยายามเกาะกลุ่มจะได้รู้ว่าคนอื่นเขาคิดยังไง เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่เป็นไร แต่มันทำให้เรามีมุมคิดที่หลากหลาย ไม่เชื่อมั่นในตัวเองมากจนเกินไป เพราะจะนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย"
------------------------------------------------------
ตอนที่ 6 ช่วงสุข และทุกข์
------------------------------------------------------
วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ในตลาดหุ้น ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยกให้เป็นช่วงชีวิตที่เลวร้ายที่สุดของนักเล่นหุ้น นับจากดัชนี SET ทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ระดับความสูง 1,789 จุด จากนั้นก็ค่อยๆหล่นลงมาทำจุดต่ำสุด 207 จุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เสี่ยยักษ์บอกว่า ใครที่รอดตายช่วงนี้มาได้ แล้วพอร์ตยังโตขึ้น ต้องยกให้ว่าเป็น "ยอดฝีมือ" ทุกคน วิชัยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่ "รอด" ช่วงนี้มาได้ แต่ก็รอดแบบเฉียดตาย และสูญเสียไม่ใช่น้อย "ช่วงนั้นพอร์ตหุ้นของผมหายไปครึ่งหนึ่ง" เขาบอก วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เขาย้อนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นว่า ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต "เริ่มตัดไปทีละนิ้ว ตัดไปเรื่อยๆเหมือนนิทานตะพาบน้ำ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไง! มันเจ็บปวดที่สุด แต่คุณไม่มีทางเลือก..ถ้าอยากรอดคุณต้องรีบทำ" เขาสะท้อนช่วงวิกฤติครั้งนั้นให้ฟัง...จากตัดนิ้วก็ต้องตัดแขน พอดัชนีลงมาเหลือ 220 จุด ผมจำได้ว่าหายไปครึ่งตัว "พอร์ตเหลือครึ่งเดียว" อารมณ์ช่วงนั้นมันเศร้าที่สุด เมื่อถามว่าช่วงไหนที่เสี่ยยักษ์ มีความสุขมากที่สุด? "...ช่วงที่หาเงินได้ 100% ของพอร์ต โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นเล่นหุ้นใหม่ๆ ถ้าพอร์ตคุณเพิ่มได้ 1 เท่าตัว..มันยากจริงๆ แต่คุณจะรู้สึกภูมิใจ... ผมยังจำได้ ตอนที่เล่นหุ้นใหม่ๆ เครดิตเราก็ไม่มี ไม่มีใครอยากมองเรา เพราะว่าพอร์ตเราเล็ก เราจะไปคุยกับรายใหญ่ เขาก็กลัวว่าเราจะไปเกาะเขา ช่วงนั้นสำหรับผมมันยากที่สุด และน่าจดจำที่สุด" เขาเล่าว่าวิธีการเล่นหุ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเล่นหุ้นไม่ใช่แบบนี้ ใครไปซื้อหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร สมัยก่อน "หุ้นปั่นครองเมือง" (ยิ่งกว่านี้อีก) ประมาณปี 2535-2536 เพิ่งมีการตั้งกองทุนรวม(บลจ.)ใหม่ๆ กองทุนยังเล่นหุ้นไม่เก่ง ต่างชาติก็ยังไม่มากอย่างทุกวันนี้ มีแต่ "นักลงทุนรายใหญ่" "เจ้าของหุ้น" กับ "รายย่อย" ที่เล่นกัน ใครเล่นหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร
...คำว่า "ปั่น" มันแปลว่า "หมุน" จึงไม่ใช่ของจริง ต้องเข้า-ออกเร็ว เมื่อไรที่หุ้น "หมุนช้า" หรือ "หยุดหมุน" ใครออกไม่ทันก็ "เจ๊ง" นี่คือ สัจธรรมของหุ้นปั่น ประสบการณ์ยังสอนวิชัยว่า ใครที่เล่นหุ้นปั่นแล้วไม่ยอมเลิก ได้มาเท่าไรก็ต้องคืนกลับไปหมด เพราะธรรมชาติของหุ้นปั่น เหมือนการ "ตีฟอง" หมดรอบเมื่อไหร่ ราคาก็หมด คือไม่เหลือค่าอะไร เขาย้ำว่า..คนที่เล่นหุ้นปั่นแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่ว่าเราเก่ง(ถ้าไม่ใช่พวกเขา)เพราะพวกนั้นเขาตั้งใจเอา "ปืนแก๊ป" มาดวลกับเรา เขาหลอกล่อให้เราได้กำไรก่อน..แต่ถ้าวันไหนมันเอา "แห" มาครอบเรา หมายถึง ทุบหุ้นออกมาทุกราคา วันนั้น..คุณโดน(เจ๊ง)แน่
แต่พอผ่านมาอีก 10 ปี หลังยุควิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 กองทุน(บลจ.)เริ่มมีประสบการณ์ เริ่มเก่ง เพราะเหตุว่า หนึ่ง..เขาใกล้ชิดข้อมูล เขาศึกษาข้อผิดพลาดมาเยอะ สอง..วิธีการเขาเปลี่ยน เล่นสั้นได้ เล่นยาวได้ การบริหารพอร์ตของเขาจะยืดหยุ่นตลอดเวลา พอกองทุนเริ่มเก่ง บวกกับเงินต่างชาติเข้ามามาก จากหุ้นเก็งกำไรครองเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็นหุ้นพื้นฐานครองเมือง
"...ถึง พ.ศ.นี้ ผมมองว่า ถ้าคุณไม่มี "อินไซด์" ต้องเล่นหุ้นพื้นฐานอย่างเดียวเลย ถึงจะมีโอกาสรวย" วิชัยบอกว่า นักลงทุนรายใหญ่เท่าที่สังเกต เขาจะลงทุนแบบ "โฟกัส" ในหุ้นหนักๆอยู่ไม่กี่ตัว เพราะการกระจายพอร์ตมากตัวเกินไป ถ้าไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวจริงๆ การตัดสินใจ "ซื้อ-ขาย" จะผิดพลาดได้ง่าย "อย่างพอร์ตของผม จะถือหุ้นอยู่แค่ 1-2 ตัว" วิชัยอธิบายว่า จริงๆแล้วการเล่นหุ้น เรารู้..เราเก่งของเราแค่ตัวเดียวพอ ขออย่างเดียว หุ้นที่เราซื้อต้องตอบคำถามได้ว่า เราเล่นหุ้นตัวนี้เพราะอะไร? มันทำธุรกิจอะไร? มันจะขึ้นเพราะอะไร? เหตุผลมันคืออะไร? มันเปลี่ยนชื่อเพราะอะไร? ต้องการสร้างภาพพจน์ให้ดีขึ้นรึเปล่า "ผมขอให้คุณเก่งหุ้นแค่ทีละตัว หรืออย่างมากแค่ 3 ตัวพอ รู้ให้ลึก..รู้ให้แตกฉาน แล้วทนรอกับมันได้ คุณจะรวยมหาศาล" "...แต่ต้องเก่งจริงๆนะ ต้องรอกับมันได้ อย่าเป็นคนใจเร็วด่วนได้ เพราะคุณจะไม่ได้..นี่เรื่องจริง"
นอกจากนี้ คนที่จะเล่นหุ้นแล้วรวย คุณจะต้องหา "หุ้นในดวงใจ" ให้ได้ก่อน วันไหนที่คุณมีหุ้นในดวงใจแล้ว คุณจะเหมือน "เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล เขาจะนิ่ง เขาจะอดทน เขาจะ Let the Profit Run แล้วได้กำไรเยอะ ...แต่ถ้าวันไหนคนเล่นหุ้นไม่มีหุ้นในดวงใจ..คุณไม่มีทางรวย รับประกันได้ คุณไม่มีทางรวยแน่ๆ หุ้นขึ้นไป 2-3 ช่อง..เห็นเขาวางขายเป็นล้านหุ้น คุณจะใจไม่อยู่(ใจเสีย)รีบขายตาม พอหุ้นเด้งขึ้นมาใหม่ คุณก็ไม่กล้าซื้อกลับ ถ้ากล้าซื้อก็จะซื้อน้อยลง "นี่แหละ..จุดพลาดสำคัญ ที่ทำให้นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ประสบความสำเร็จ" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง
------------------------------------------------------
ตอนที่ 7 ปตท.หุ้น The Winner1
------------------------------------------------------
เส้นทางการเติบโต..พอร์ตหุ้นของวิชัย วชิรพงศ์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว เขาเพียรพยายามนำกำไรมาลงทุนต่อ (Reinvestment) โดยไม่เด็ดยอดความสำเร็จ เอาไปซื้อหาความสุข ก่อนถึงเวลาอันควร นานนับสิบปีพอร์ตของวิชัยก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆอย่างน่าอัศจรรย์ เขาไม่ใช่ "พ่อมด" ที่เสกเงินได้เอง แต่เขาเชื่อในหลักการของ "พลังแห่งการทบต้นของเงิน" วิชัยเชื่อว่า พอร์ตหุ้นของนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ในระหว่างทางคุณจำเป็นต้องเจอหุ้น "แจ๊คพอต" (หุ้นในดวงใจ) ที่ทำกำไรครั้งละมากๆ ต้องมีผ่านเข้ามาเป็นระยะ พอร์ตจึงจะเติบโตได้ "...การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจ(ซื้อ-ขาย)บ่อย โอกาสผิดพลาดจะมีสูง" กูรูหุ้นรายนี้ แนะนำว่า ระหว่างที่ "จังหวะ" และ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง นักลงทุนอาจจะแบ่งเงินลงทุนบางส่วน มาเล่นหุ้นเก็งกำไร แต่ไม่ควรทุ่มเทเงินทั้งหมด มาเสี่ยงในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจเต็มร้อย ขณะเดียวกัน..ในระหว่างที่เรากำลังจับ "ปลาเล็ก" (หุ้นเก็งกำไร) คุณต้องพยายามค้นหา "หุ้นในดวงใจ" (ของรอบ) และควรเตรียมแหอวน สำหรับการจับ "ปลาใหญ่" ไว้ให้พร้อม เขาเชื่อว่าในทุกๆปี จะมีฤดูกาล "จับปลาใหญ่" อย่างน้อย 1 คลื่นใหญ่ คุณต้องหาหุ้นที่ "แจ๊คพอตแตก" ให้เจอ และต้องกล้าที่จะ "ทุ่ม" ลงไปกับมัน สำหรับหุ้นที่เป็น "จุดหักเห" ของพอร์ตวิชัย ตัวหนึ่งก็คือ หุ้นปตท.(PTT) เขาบอกว่าหุ้นตัวนี้ทำกำไรให้มากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาท เสี่ยยักษ์ เล่าว่า ก่อนที่หุ้นปตท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 2544 ก่อนหน้านั้นรู้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวนี้ต้องดีแน่ เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ ทุกคนมองหุ้นตัวนี้ดีหมด "ผมจ้างคนไปเข้าคิวจองหุ้นปตท. ตั้งแต่ตี 5 ใช้ชื่อญาติพี่น้องเป็นสิบๆคน กระจายกันไปจอง จำได้ว่าคนหนึ่งจองได้ 20,000 หุ้นราคาไอพีโอ 35 บาท ก่อนหน้านั้นผมกลับไปที่จังหวัดอยุธยา ไปเขียนใบจองล่วงหน้า 2-3 วัน โดยขอออเดอร์แรกทุกสาขา ทุกธนาคารที่เปิดจอง เพราะในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีคนนิยมเล่นหุ้น ผมก็ไปเตรียมการไว้ก่อน ...สรุปว่า ได้หุ้นมารวมกัน 7 แสนหุ้น ผมไม่มีเส้นสาย ไม่มีพวก จำนวนหุ้นขนาดนี้ถือว่าเยอะมาก ได้มา 35 ใบจอง ลงทุนไป 24.50 ล้านบาท" วิชัย จำได้ว่า ความคิดตอนนั้น จะฝากชีวิตไว้กับหุ้นปตท. นี่แหละ!! แต่ที่ไหนได้..หลังจากหุ้นปตท.เข้ามาเทรดในตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขึ้นไป High ที่ราคา 38.25 บาท แล้วถูกกดลงมาปิดที่ราคา 35.75 บาท "ชั้นเชิงของรายใหญ่ (พวกกองทุน) เขาจะต้องขยายหุ้นหรือเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ต ก่อนลากราคาขึ้นไป พอเปิดมา 35.75 บาท เขาบี้อยู่อย่างนั้นตั้งนาน จนผมทนไม่ไหว ต้องขายออกไปที่ราคา 35.50 บาท การที่เราโฟกัสหุ้นตัวนี้ตัวเดียว เวลาที่หุ้นลง ความรู้สึกมันอึดอัดมาก"
วิชัย บอกความรู้สึกว่า รายใหญ่เขาจะจับเรา(นักลงทุน)เข้าเครื่องเขย่าหุ้น ให้คนที่ใจไม่ถึงต้องออกไป กลยุทธ์ของเขาคือ ทำให้พวกที่ใจไม่ถึงต้อง "คืนของ" หรือ "ขายคืน" ประจวบกับช่วงนั้นดัชนี SET อยู่แถว 300 จุดต้นๆ หุ้นตัวเล็กตัวน้อยขึ้นตลอด จนวิชัยทนไม่ไหว ต้องขายหุ้นปตท.ที่เป็นหุ้นในดวงใจในขณะนั้น ทิ้งไปทั้งก้อน "ช่วงนั้น ผมซื้อหุ้นปตท.เพิ่มเป็น 1 ล้านหุ้น ลงทุนไปประมาณ 35 ล้านบาท กู้เครดิตบาลานซ์ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้น รวมเป็น 2 ล้านหุ้น แต่ไม่สำเร็จก็ต้องออก เอาเงินไปเล่นเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น" หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แม้พอร์ตของวิชัยจะเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านบาท (ช่วงหุ้นปตท.เข้าตลาด) เพิ่มขึ้นมาเป็น 70 ล้านบาท จากการเล่นหุ้นเก็งกำไร พอร์ตหุ้นโตขึ้นมา 1 เท่าตัว แต่เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเสี่ยงมาตลอดทาง ขณะเดียวกันหุ้นปตท. ก็ค่อยๆ แอบขึ้นมาเงียบๆ แต่ก่อนจะขึ้นใหญ่ ราคาหุ้นปตท.วิ่งในลักษณะ "ไซด์เวย์" อยู่นานเป็นปี (2545-กลางปี 2546) จากราคาจอง 35 บาท ราคาหุ้นลงไปต่ำสุด 28.75 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2545 แล้วไล่ขึ้นไป 38 บาทในวันที่ 12 มิถุนายน 2545 จากนั้นก็กดราคาลงมาอีกทีเหลือ 34 บาทในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 ต่อจากนั้นราคาก็เคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 38 - 45 บาทนานอีกหลายเดือน จนถึงกลางเดือนเมษายน 2546 ราคาหุ้นปตท.ทะยานขึ้นไปเร็วมาก ขึ้นไป 78 บาทในวันที่ 8 กรกฎาคม 2546
วิชัย อธิบายว่า จากช่วงเดือนธันวาคม 2544 ถึงกรกฎาคม 2546 พอร์ตหุ้นของตัวเองเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัวจากการเล่นหุ้นปั่น ขณะที่หุ้นปตท. ก็ขึ้นมา 1 เท่าตัวเหมือนกัน "ถ้ามองย้อนกลับไป มันก็ดีที่คุณมีเงิน 35 ล้านบาทเพิ่มเป็น 70 ล้านบาท แต่ผมฉุกคิดได้ว่า เวลาที่เราเล่นหุ้นปั่นกำไร 100% ก็จริง แต่มันเสี่ยงตลอดทาง เข้าถูกตัวบ้าง เข้าผิดบ้าง ที่บอกว่ามันเสี่ยงก็เพราะว่าหุ้นหลายตัวที่เล่น พี/อี 30-40 เท่า แล้วบางตัวขาดทุน เพราะหุ้นปั่นส่วนใหญ่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ยิ่งถือนานยิ่งเสี่ยง" ช่วงปี 2545 ในก๊วนตีกอล์ฟ วิชัยยังจำได้ว่า เคยบอกให้เพื่อนๆ เก็บหุ้นปตท. เดี๋ยวมีรถเฟอร์รารี่ขับ "เชื่อผมซิ!" แต่ไม่มีใครซื้อ เพราะมันไม่สนุก เขาไปเล่นหุ้นปั่นกันหมด "...ช่วงที่หุ้นปตท.อยู่แถวๆ 35 บาท ผมเชียร์ให้ทุกคนซื้อเก็บยาวเลย แล้วไม่ต้องมอง เพราะผมมองว่ารายใหญ่ รายย่อย มีต้นทุนเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ผมดันทนไม่ไหวเอง ขายหุ้นทิ้งออกไปก่อน" เสี่ยยักษ์ กล่าวถึง การตัดสินใจที่ผิดพลาดในครั้งนั้น
------------------------------------------------------
ตอนที่ 8 ปตท.หุ้น The Winner2
------------------------------------------------------
วิชัย วชิรพงศ์ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมามันทำให้ตนเองมีคติประจำใจว่า ถ้าจะกำไรเยอะๆ ต้องถือหุ้นยาวๆให้ได้ เมื่อรู้ว่า "เดินทางผิด" ไปทุ่มลงทุน "หุ้นปั่น" แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท.ที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก กำไรที่ได้มาจากหุ้นปั่น 100% เท่าๆ กับการขึ้นของหุ้น ปตท.จาก 35 บาทขึ้นมา 70 บาท แต่ตลอดทางที่ทำกำไรจาก "หุ้นปั่น" วิชัยกลับรู้สึกกระวนกระวายใจ ชีวิตไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงทุกวัน จิตใต้สำนึกบอกว่าถ้าขืนเล่นหุ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะต้องมีวันพลาดท่า "เจ๊ง" ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่ๆ "จำได้ว่า ก่อนที่จะกลับมาเข้าหุ้น ปตท.(ครั้งที่ 2) ผมไปเข้าหุ้น HEMRAJ เกือบ 30 ล้านหุ้น วันนั้นราคาขึ้นไปทำนิวไฮที่ 2.70-2.80 บาท ลงทุนไปประมาณ 70 ล้านบาท ซื้อหุ้นตัวเดียวเต็มพอร์ต ...พอซื้อเสร็จ มันก็ขึ้นไปทำนิวไฮ พอกลับไปบ้าน ทั้งคืนนอนไม่หลับ เพราะหุ้นตัวนี้ (ตอนนั้น) พี/อี มันสูงมาก ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า..กูหาเรื่องแท้ๆ ไม่น่าซื้อเลย" ย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เสี่ยยักษ์มานั่งคิดว่า โอ้โห! ทำไมเราถึงกล้ามาก รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิดพลาดแล้วนะ เพราะพอร์ตเราใหญ่ ลูกเรายังเล็กอยู่ ถ้าพลาดท่าเราตายแน่ เขาอธิบายคำศัพท์ของนักเล่นหุ้นที่บอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" ความหมายคือ ลูกเรายังเล็ก..จะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง เมื่อรู้ตัวว่า "ซื้อแพง" ถลำลึกกับหุ้นเก็งกำไรจนหมดตัว เช้าวันรุ่งขึ้น วิชัยจึงตัดสินใจขายหุ้น HEMRAJ ทิ้งทั้งหมด จากเดิมที่มีกำไรหลายล้านบาท กลับเป็นว่าไม่เหลือกำไรเลย แต่เขาไม่เสียใจ ...เพราะการซื้อหุ้นแล้วเราไม่สบายใจ การขายหุ้นออกไปให้หมด จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จากนั้นวิชัยก็เอาเงินทั้งหมดประมาณ 70 ล้านบาทมาซื้อหุ้น ปตท. "ตัวเดียว" โดยเข้าลงทุนประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2546 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นได้แอบขึ้นจาก 35 บาท ไป 70 บาทแล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้วิชัยฉุกคิดได้ว่าต้องทิ้งหุ้น HEMRAJ แล้วมาซื้อหุ้น ปตท.?
เหตุผลอยู่ที่ความเชื่อมั่นใน "ผลประกอบการ" ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ หุ้น ปตท.ในขณะนั้นจึงเป็น Super Growth Company หมายความว่า หุ้นจะมี "อัตราเร่ง" ของราคาที่มากกว่าภาวะปกติ อีกมิติทางการเมือง..รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ก็มีความเข้มแข็งถึงขีดสุด อีกทั้งมีนโยบายเกื้อหนุนให้ ปตท.เติบโตอย่างชัดเจน ช่วงที่ ปตท.ประกาศผลการดำนินงานปี 2545 (ปีแรกที่เข้าตลาดหุ้น) มีกำไรสุทธิ 24,506 ล้านบาท พอปี 2546 กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 39,400 ล้านบาท พอปี 2547 กำไรก้าวกระโดดเป็น 62,666 ล้านบาท "5 ปีย้อนหลัง ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2545-2549) หุ้น ปตท.มันขึ้นมาตลอด" วิชัยยังจำได้อีกว่า ช่วงที่ราคาหุ้น ปตท.ขยับขึ้นจาก 35 บาทมาถึง 70 บาท จากนั้นก็ประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546 กำไรออกมาดีมาก 17,623 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.30 บาท ถ้าจำไม่ผิด พี/อี แค่ 5 เท่านิดๆ เท่านั้นเอง (ทั้งปีกำไรต่อหุ้น 14.09 บาท) "ช่วงที่หุ้น ปตท.ขึ้นมาถึง 70 บาท ดัชนี SET ขยับขึ้นมาจาก 340 จุด ขึ้นมาเกือบๆ 500 จุด ผมเข้าไปซื้อหุ้น ปตท.แถวๆนี้ ช่วงประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546" ระหว่างที่เข้าไปซื้อหุ้น ปตท. วิชัยถือที่ต้นทุน 70 บาท เกมเขย่าราคาก็เกิดขึ้นอีกครั้ง รายใหญ่ใช้วิธี "โยนหุ้น" ในกรอบราคา 69-75 บาท ย่ำฐานอยู่แถวนี้ ทำให้คนที่ซื้อเยอะๆ รู้สึกอึดอัด ถ้าใครทนไม่ไหวก็ต้อง "คายหุ้น" กลับคืนไป "มันบี้ผมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ผมก็ทนถือเอาไว้ เพราะรู้ว่ามันต้องประกาศงบทั้งปีออกมาดีแน่ๆ ขณะที่หุ้นปั่นตัวอื่นๆตกกันหมด ถ้าใครใจไม่อยู่ก็ต้องคืนของเขาไป..แต่ผมปักหลักสู้" ช่วงที่ตลาดหุ้นถูกเขย่าไปพร้อมๆกับหุ้น ปตท. วิชัยบอกว่า ช่วงนั้นดัชนี SET ขึ้นไป 500 ต้นๆ แล้วก็ถูกทุบลงมา กราฟตอนนั้นมีคน "เจ๊งหุ้น" (ปั่น) เยอะมาก ใครที่เล่นหุ้นปั่นตายหมด ตรงกันข้ามกับหุ้น ปตท.ที่ยืนกับขึ้น การที่หุ้น ปตท. "ยืน" กับ "ขึ้น" ในภาวะขาลง เขารู้ทันทีว่า การตัดสินใจเปลี่ยนจากหุ้นเก็งกำไรมาซื้อ ปตท. เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีชื่อ "วิชัย วชิรพงศ์" อย่างทุกวันนี้
----------------------------------------------
ตอนที่ 9 รวย
-----------------------------------------------
-----------------------------------------------
ถ้าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมา "พร้อมวอลุ่ม" เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด การที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เลือกลงทุน "หุ้นปั่น" ในช่วงแรก แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท. "หุ้นในดวงใจ" เนื่องจากมองว่า "เชื่องช้า" ให้ผลตอบแทนไม่ทันใจ แต่หุ้น ปตท.ระหว่างรอยต่อของ Business Cycle จาก "ยุคขยายตัว" (Expansion) ไปสู่ "ยุครุ่งเรือง" (Boom) ของราคาน้ำมัน หุ้นปตท.กลับเป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" กำไรโตพรวดพราดอย่างน่าทึ่ง "...ใครหาหุ้นอย่างนี้เจอ "แจ๊คพอตแตก" แน่นอน!!!" เสี่ยยักษ์สรุปสั้นๆ
เสี่ยยักษ์ย้อนเล่าว่า ช่วงนั้นตนเองมีเงินอยู่ 70 ล้านบาท ตัดสินใจซื้อหุ้น ปตท.ตัวเดียวเลย 1 ล้านหุ้น ซึ่งราคามันวิ่งขึ้นมาจาก 35 บาทมาที่ 70 บาท (ขึ้นมา 100% แล้ว) แต่ความมั่นใจของเรา ทำให้ "กู้เครดิตบาลานซ์" ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้นรวมเป็น 2 ล้านหุ้นมูลค่า 140 ล้านบาท ช่วงเดือนกันยายน 2546 หุ้นปตท.ขยับขึ้นไป 83 บาท นั่นคือจุดผกผันของชีวิตครั้งใหญ่ "ผมจะชอบอ้างคำพูดของ "แซม สนีด" อดีตนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก ที่เคยบอกว่า การตีกอล์ฟระยะไกลๆลงหลุมแบบ "โฮลอินวัน" มันเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่ตีกอล์ฟให้ห่างธงระยะ 1-2 ฟุต ได้ทุกครั้งนี่คือฝีมือล้วนๆ" วิชัยเปรียบเทียบการเล่นหุ้นกับการตีกอล์ฟว่า คุณซื้อหุ้นให้ถูกตัว..ถูกเวลา เหมือนกับการตีกอล์ฟให้ใกล้หลุม "มันเป็นฝีมือ" แต่ผลสำเร็จสุดท้ายโชคชะตา "ฟ้า" จะเป็นผู้ลิขิต "ใครจะไปรู้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมันจะวิ่งจาก 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นไป 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนซื้อหุ้นปตท.ใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้ มันทำให้หุ้น ปตท.พุ่งขึ้นจาก 70 บาทไป 190 กว่าบาท ภายในเวลาแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น" ถ้าย้อนหลังกลับไปในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาหุ้น ปตท.ปิดตลาดที่ 66.50 บาท อีก 6 เดือนต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 ราคาหุ้น ปตท.ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 193 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 190% ในรอบ 6 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ค่อยๆขยับขึ้นจาก 25-27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 ทะยานพุ่งขึ้นไปสูงสุด 72-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นทิศทางขาขึ้นนานถึง 3 ปีเต็ม ระหว่างที่ราคาหุ้น ปตท.กำลังปรับขึ้นเพื่อสร้างสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสัญชาตญาณของ "นายพราน" เสี่ยยักษ์ ขณะนั้นมีหุ้นปตท.อยู่แล้ว 2 ล้านหุ้น (กู้เครดิตบาลานซ์ 1 ล้านหุ้น เงินตัวเอง 1 ล้านหุ้น) พอหุ้น ปตท.ปรับขึ้น "อำนาจซื้อ" ก็เพิ่มขึ้น หมายความว่า วงเงินกู้เครดิตบาลานซ์ ก็เพิ่มขึ้นตาม เขาก็ใช้วิธีกู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นยิ่งปรับขึ้น อำนาจในการ (กู้) ซื้อก็ยิ่งเพิ่มขึ้น "...จาก 2 ล้านหุ้น ผมก็มีหุ้นเพิ่มเป็น 4 ล้านหุ้น" ทั้งๆ ที่เสี่ยยักษ์มีทุนซื้อหุ้นครั้งแรกเพียง 70 ล้านบาทหรือ 1 ล้านหุ้นเท่านั้น "ข้อดีของการเล่นหุ้นด้วย "เครดิตบาลานซ์" เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น (ราคาหุ้นสูงขึ้น) ผมก็กู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตตลอดเวลา ที่มั่นใจก็เพราะว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมันขึ้นไปเรื่อยๆยิ่งขึ้น ผมก็ยิ่งซื้อหุ้น ปตท.เก็บ" เขาบอกว่า ขณะนั้นมีต้นทุนถัวเฉลี่ยในพอร์ต (จำนวน 4 ล้านหุ้น) อยู่ที่หุ้นละ 90 บาท จนถึงต้นปี 2547 หุ้น ปตท.ขึ้นไป 193 บาทก็ยังไม่ขาย มาขายที่ราคา 170 กว่าบาท "สาเหตุที่ยังไม่ขาย ก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมาพร้อมวอลุ่ม เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด" วิชัยสรุปว่า หุ้นปตท.ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะหุ้นปตท.ตัวเดียวทำกำไรให้รวมกันมากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาทจากเงินลงทุนเพียงแค่ 70 ล้านบาท
"พอผมไปซื้อหุ้น ปตท.ใช้เครดิตบาลานซ์ ซื้อเพิ่ม เผอิญราคาน้ำมันมันขึ้น ขึ้นอย่างมากๆนั่นคือลิขิตโชคชะตา แต่ตอนแรกที่เราตีกอล์ฟไปใกล้ธงระดับ 2 ฟุตนั่นคือฝีมือ" ...แล้วเราจะค้นหาหุ้น "แจ๊คพอตแตก" อย่างนี้ได้อย่างไร? เสี่ยยักษ์สรุปไว้สั้นๆว่า คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องสู้ตาย..คุณต้องทุ่มเท พร้อมทั้งบอกว่า คนเราถ้ามันจะรวย มันมีส่วนของ "ฟ้าลิขิต" มาช่วยด้วย 5 เดือนเองนะครับที่หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 บาทไปเป็น 190 บาท นี่คือส่วนของฟ้า ส่วนของเราคือ ต้องเลือกหุ้นให้ถูกตัว แล้วต้องซื้อให้ถูกเวลา "..นี่ไม่ง่ายนะครับ!!!" ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่าหุ้น ปตท.ช่วงที่กำลังเติบโต (รวมทั้งหุ้น Super Growth Company ตัวอื่นๆ) ไม่ใช่ "ช้างที่เชื่องช้า" แต่เป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" ในบางขณะ อยู่ที่ว่า คุณ..จะหาจังหวะนั้นเจอหรือไม่ ???
------------------------------------------------------
ตอนที่ 10 "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค"
------------------------------------------------------
กฎเหล็กข้อหนึ่งที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยึดถือในการลงทุน นั่นคือ "วอลุ่มพีค" เท่ากับ "ราคาพีค" และอีกข้อ ถ้าหุ้นปรับฐาน "รีบาวนด์" แล้วแต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง" "ถามว่าแน่จริงยังไง ถึงไม่ขายหุ้น ปตท.ทั้งๆ ที่ราคาขึ้นมากว่า 190 บาท ทำไมต้องไปขายถูกที่ราคากว่า 170 บาท เพราะเราคิดว่ามันจะต้องขึ้นต่อ ขณะที่หุ้น ปตท.มันมีการปรับตัวลงมา 10-15% ผมอดใจรอ...ไม่ขาย นี่เคล็ดลับของผมคนเดียว"
วิชัยบอกว่า หุ้นมันต้องมีการปรับตัว ถูก "Profit Taking" หรือ ตัดเอากำไร ถ้าราคาปรับลงแล้ว "รีบาวนด์" ขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ได้ มันจะ "รัน" (วิ่งไกล) เราต้องเสี่ยง "วัดดวง" นี่มันเป็นพฤติกรรมของหุ้นขาขึ้น แทบทุกตัว แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าหุ้น "รีบาวนด์" แล้ว ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่ ก็ต้องขายทิ้งออกไป หลักการของมันคือ ถ้าหุ้นตัวไหนก็ตาม ที่รีบาวนด์แล้ว แต่ไม่ทำนิวไฮใหม่ "มันต้องลง" แต่จุดมั่นใจ เราต้องดู "วอลุ่ม" ประกอบ "เวฟแรก" ที่หุ้น ปตท.ขึ้นไปกว่า 190 บาท มีวอลุ่มหนุน "สูงปรี๊ด" ช่วงปรับตัวลงมาวอลุ่มต่ำ "ไม่แปลก" ขณะที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นไป "เวฟสอง" วอลุ่มไม่สูงเท่าเวฟแรก หรือ วอลุ่มไม่ทำนิวไฮ "...ความหมาย คือ เวฟแรกถ้า "วอลุ่มพีค" แสดงว่า "ราคาพีค" ไปแล้ว ผมเป็นคนใช้เคล็ดลับนี้เป็นลำดับต้นๆ ของวงการ (เซียนหุ้น) กล้าพูดได้เลย" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า คุณจำเอาไว้เลยนะ "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" ท่องไว้เลย!!! แปลความหมายให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า ถ้าวันไหนวอลุ่มการซื้อขายสามารถทำ "จุดสูงสุด" (วอลุ่มสูงมากๆจนผิดปกติ) ราคาหุ้นวันนั้นก็จะเป็น "จุดสูงสุด" ของรอบนั้นด้วย หรือถ้าหุ้นขึ้นต่อได้ ก็ไปได้อีกไม่ไกล...นี่ไม่ใช่ทุกกรณี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ส่วน "เทคนิคการขายหุ้น" วิชัย อธิบายเคล็ดลับส่วนตัวไว้ว่า... "...เวลาที่จะขายหุ้นเกือบทุกครั้ง ผมจะต้องรอให้มันปรับตัว พอมันปรับตัวแล้วมีรีบาวนด์ ถ้ารีบาวนด์แล้วมีนิวไฮ ผม "รัน" (Let The Profit Run) ถือต่อ...ตอนหุ้นปตท.ขึ้นมาจากกว่า 70 บาท ราคามันขึ้นไป 110 บาทปรับตัวลงมาที่ 100 บาท แต่หลังจากนั้นมันก็ทำนิวไฮขึ้นไปต่อได้อีก แทนที่จะรีบขาย...ผมก็ถือต่อ" วิชัย อธิบายสูตรการเล่นหุ้นว่า คุณไม่มีทางรู้จุดสูงสุด และจุดต่ำสุดของมัน ขายเร็วเกินไปก็เสียโอกาส เพราะฉะนั้น "จุดขาย" คือ จุดกลับตัว เราจะรู้จุดกลับตัวก็ต้องรู้ว่ารีบาวนด์แล้วไม่ทำนิวไฮ ราคามันต้องปรับลง "ถ้าไปดูกราฟราคาหุ้นทุกตัว มันไม่มีหุ้นตัวไหนขึ้นไปตลอดทาง (ยกเว้นหุ้นปั่นแบบม้วนเดียวจบ) ระหว่างทางมันต้องปรับตัวลง เพื่อลดความร้อนแรงและสะสมพละกำลังใหม่ ถึงจะไปต่อได้ เราต้องคิดทุกอย่างให้เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วเราจะเข้าใจ"
เสี่ยยักษ์ อธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองต่อว่า "ผมจะล็อกล่าง" (กำหนดจุด Stop Loss) ไว้ตลอดเวลา ถ้าหุ้นตัวไหนซื้อเข้าพอร์ตไปปุ๊บ! แล้วมันเกิดลง ผมให้มันลงได้มากที่สุด 15% เกินจากนี้ "ผมทิ้ง" อาจจะต่างจากของเซียนหุ้นคนอื่น ถ้าซื้อไปแล้วหุ้นลง 2-5% เขาขาย หลักการตรงนี้จะต่างกัน "วิธีการเล่นหุ้นต่อ 1 รอบ จำไว้เลยนะว่า คุณต้องเตรียม "ขาดทุน" ไว้ 10% ของพอร์ตของคุณเสมอ...ผมกล้าพูดได้เลยว่า ต่อให้เป็นเซียน เป็นโคตรเซียนแค่ไหนก็ตาม คุณมี 100 ล้านคุณต้องเตรียมขาดทุนไว้ 10 ล้าน ไว้สำหรับ Cut Loss (ยอมขาดทุน) แน่นอนที่สุด...เชื่อผม!! "...ไม่งั้นคุณไม่สามารถไปรอขายถึงยอด (พีค) ของรอบได้หรอก เพราะในแต่ละยอดของหุ้นมันจะต้อง "ปรับตัว" นี่มันเป็นกฎธรรมชาติ" ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว วิชัยบอกว่า ขายหุ้น ปตท. ล็อตนี้ออกไปที่ราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท ช่วงที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นมา 182 บาทแล้วไม่ทำนิวไฮ "รอบนี้รอบเดียว ผมได้กำไร ปตท.กว่า 400 ล้านบาท...นี่ผมเล่าชีวิตจริงๆ ให้ฟังเลย ขายราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท แล้วมาซื้อกลับอีกทีที่ราคากว่า 140 บาท เชื่อผมเถอะ! จริงๆ ไม่มีเซียนหุ้นคนไหน ซื้อหุ้นต่ำสุด แล้วไปขายที่ราคาสุดยอดได้หรอก ถ้าผมทำได้ก็ต้องเปลี่ยนชื่อจาก "วิชัย" เป็น (เก่ง) "ปานเทพ" แล้ว ใครจะไปรู้ ไม่มีใครรู้หรอก พอรีบาวนด์แล้วไม่นิวไฮ...ผมก็ขาย นี่คือหลักการ" กรณีที่ราคาหุ้นถูกขายทำกำไรออกมา แล้วราคาปรับฐานลงมา โดยเฉพาะกรณีของหุ้น ปตท. สาเหตุที่วิชัยมาซื้อกลับที่ราคากว่า 140 บาท เขาให้เหตุผลว่า ที่กล้าซื้อเพราะพื้นฐานของ ปตท.ไม่ได้เปลี่ยนเลย ถึงราคาลงมาแต่ "กราฟรายเดือน" มันยังดีอยู่ "คนที่เล่นกราฟ เขาใช้ระดับ 15 นาที 20 นาที หรือ Day แต่จริงๆ ผมชอบใช้กราฟระดับ Month (อาทิเช่น MACD) คือ ผมจะเล่นรวย ผมไม่เล่นเอามัน ถ้ากราฟ MACD มันตัดลงมา เรารอให้มันบีบพร้อมที่จะตัดขึ้น ถึงวันนั้นเราค่อยมานั่งดูหุ้น นั่นคือการเล่นหุ้นเป็นรอบๆใหญ่" วิชัย กล่าวสรุป
------------------------------------------------------
ตอนที่ 11 หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย
------------------------------------------------------
ระหว่างที่ "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดหุ้น "หล่น" ลงมา พร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว การทำศึกในตลาดหุ้น เรื่องของ "วอลุ่ม" ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรบ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ แนะนำเคล็ดลับในการดู "วอลุ่ม" เพิ่มเติมว่า ถ้า "หุ้นขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" ให้สงสัยไว้ก่อนว่า "มันกำลังจะวิ่ง" แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาลง" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่มันผิดกฎธรรมชาติ "แสดงว่ามีรายใหญ่เก็บหุ้นตัวนี้อยู่ จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดมันหายไป อย่างนี้สัญญาณดี ต้องเข้าไปดูแล้วว่า หุ้นตัวนี้มันมีดีอะไร" เสี่ยยักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ของ "วอลุ่ม" กับ "ราคา" จะต้องดูควบคู่ไปพร้อมกับการอ่าน "แนวโน้ม" ของดัชนี SET ว่าจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน
"ผมจะบอกสูตรสุดยอดของหุ้นให้ฟังนะ ถ้าเราอ่านว่าหุ้นตัวนี้กำลังเป็น "ขาขึ้น" แต่วอลุ่มมัน "หาย" (วอลุ่มเทรดลดลง) หมายความว่ารายใหญ่กำลัง "เก็บของ" ไม่ปล่อยหุ้นออกมาหมุนเวียนในตลาด สภาพคล่องของหุ้นตัวนั้นจะค่อยๆลดลง" ...ลองคิดต่อให้เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ ถ้าคน "ดูดหุ้น" เข้าไปในกระเป๋าหมด นักเก็งกำไรไม่ได้เข้ามาเล่น (รอบ) ไม่ได้เอาหุ้นมาหมุนวนในตลาด ทุกคนดูดเก็บ!! ทุกคนดูดเก็บ!! ปริมาณหุ้นในตลาดก็จะหายไป "...เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอ "หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย" นี่คือสุดยอดหุ้น ใครหาพบคนนั้นรวย" วิชัยเน้นว่า เวลาเราอ่านกราฟและวอลุ่มประกอบกัน เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ให้มันเป็นหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามเขากำลังคิดอะไรอยู่ มันจะทำให้เรารู้เท่าทัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 กว่าบาทขึ้นไปใกล้ๆ 100 บาท ทำไม! "นายวิชัย" ถึงไม่ยอมขาย ทั้งๆที่ได้กำไรเยอะแล้ว "ผมฟลุ้ครึเปล่า! ที่ไปขาย 170 กว่าบาท เพราะผมมองว่า "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ในตลาดมันลดลง แต่ "ดีมานด์" (ความต้องการ) มันเพิ่มขึ้น เราอ่านออกว่า "รายใหญ่" กำลังเก็บของอยู่ ที่รู้ก็เพราะ "วอลุ่มมันหาย" ในระหว่างทางที่หุ้นกำลังวิ่งขึ้น" พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคำว่า "วอลุ่มหาย" หมายความว่า รายใหญ่อยู่ในช่วงสะสมหุ้น เก็บหุ้น "ใส่ปี๊บ" ไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาด แต่ถ้าเป็นกรณี "ตรงกันข้าม" สมมติว่า "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดให้ราคาหุ้น "หล่น" ลงมาพร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว คุณต้องขายทิ้ง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็น "ขาลง"
นอกจากนี้วิชัยยังแนะนำด้วยว่า การเล่นหุ้นให้ได้กำไรก้อนใหญ่ ปีหนึ่งเราควรเล่นหุ้นแค่ 2 เดือน ก็รวยมหาศาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่น (เทรด) หุ้นทั้งปี แต่ถ้าอยากเล่นเป็นรายวัน ก็ให้คิดว่าเล่นเป็นค่ากับข้าว ไม่ใช่ทุ่มสุดตัว เพราะถ้าอยากจะรวยจริงๆ บอกได้เลยครับว่า...คุณต้องเล่นรอบใหญ่ เท่านั้น เชื่อผมเถอะ!!! "ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี เป็น Bearlish Trend สำหรับตัวผมจะเหลือหุ้นอยู่ในพอร์ตน้อยมาก จะเล่นแค่สนุก เล่นเพื่อให้เราอยู่ในกระแส ระหว่างนี้ก็จะกลับมาศึกษาเยอะๆ แล้วพยายามหาหุ้นในดวงใจให้เจอ" เพราะถ้าอยากจะเล่นเกมให้ชนะ เราต้องศึกษา เราต้องรอบรู้ เราต้องมีเพื่อน เราต้องคอยอ่านความคิดคนอื่นว่าเขามองยังไง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนวิธีการ "จับปลาใหญ่" เสี่ยยักษ์ชี้แนะว่า คุณต้องนิ่งๆ รอให้หุ้นลงต่ำๆ ค่อยเข้าไปเล่น ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อหุ้นไม่ได้ ถ้าคุณมีเงินเย็นอยู่ในกระเป๋าจะมีหุ้นดีๆ วิ่งมา "ชน" คุณเอง ส่วนใหญ่ของคนที่ "ติดหุ้น" เพราะถูกอารมณ์ของตลาดหุ้นพาไป (ขาดทุน) ชอบไปซื้อหุ้นตอนที่ตลาดใกล้วาย ลองกลับไปทบทวนดูว่าจริงมั้ย!
------------------------------------------------------
ตอนที่ 12 Sell on Fact
------------------------------------------------------
ในชีวิตการลงทุนของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ผ่านประสบการณ์ "เจ็บๆ" มานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะค้นพบหนทางแห่งความสำเร็จด้วยตัวเอง ทำให้เสี่ยยักษ์เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือคุณไม่ได้หรอก ตัวคุณเท่านั้นที่ต้องช่วยตัวเอง คำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ "ลับ" ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง
"...โชคชะตาจะเลือกช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีความพยายาม(มากกว่า)เท่านั้น" เสี่ยยักษ์ เชื่อเช่นนั้น
"ผมจำได้ว่า ตอนที่หุ้นกำลังเริ่มขึ้น ช่วงปี 2536 ก่อนดัชนี SET จะขึ้นไป 1,789 จุด (ต้นปี 2537) ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ 15 ล้านบาท ช่วงนั้นขับรถผ่านวัดหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็อธิษฐานว่าถ้าหากผมหาเงินได้ 35 ล้านบาท จะถวายเงินให้วัด 3 แสนห้า ไม่ถึงปีผมมีเงิน 35 ล้านบาท จริงๆ" แต่ช้าก่อน นี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ เพราะตอนอธิษฐานเสี่ยยักษ์ ไม่ได้บอกให้หลวงพ่อปานช่วยเหลือ (แบบทางลัด) แต่เขาบอกท่านว่า "...ถ้าผมชนะก็ให้ชนะด้วยฝีมือของตัวเอง ผมปวารณาตัวเองว่า ถ้าทำได้ ผมจะถวายเงินวัด" เสี่ยยักษ์มีทัศนคติว่า คนที่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอนั่นขอนี่ นั่นคือ การฝึกให้เราเป็นคอร์รัปชัน การที่คุณเอาหัวหมูไปไหว้แล้วขอให้มีเงินร้อยล้าน พันล้าน คิดว่าไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ใครร่ำรวยได้ "นักลงทุนรายใหญ่ เท่าที่รู้จักหลายคน เขาไม่เชื่อเรื่องพวกนี้"
เซียนหุ้นรายนี้ ยังย้ำความคิดเดิมว่า ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวยจริงๆแล้ว ต้องเล่น "รอบใหญ่" อย่างเดียว ถ้าเล่นเอาค่ากับข้าว ก็ซื้อๆ ขายๆ เชื่อผมเถอะ! "ไม่รวยหรอก"
"จากประสบการณ์ของผม คนที่รวยหุ้นมากๆ ต้องมีหุ้นเด็ด ถือยาวและกำไรหนัก ต้องหาหุ้นอย่างนี้ให้เจอ" เมื่อเป็นต้นไม้ใหญ่ในวงการ ก็มักจะมี "เจ้าของหุ้น" เข้ามาหา เสี่ยยักษ์ ยอมรับว่าเคยมีมาขอให้ช่วยดูแลหุ้นให้ แต่จะบอกเจ้าของหุ้นไปว่า ถ้าคุณทำผลงานของคุณให้ดีๆแล้ว คนทั้งตลาดก็จะช่วยคุณเอง ...การที่เราจะไปจัดการหุ้นให้กับใคร หรือเป็น "มาร์เก็ตเมคเกอร์" ให้ใคร คุณต้องขายหุ้นให้คนอื่น คุณถึงจะรวย แล้วขายให้ใคร...ในเมื่อวงที่เล่นกันมันไม่ใหญ่ สุดท้ายคุณก็ต้องขายหุ้นให้คนรอบๆข้าง (ก๊วน)คุณเอง ภาษาเหนือ เขาบอกว่า "จูงหมาน้อยขึ้นดอย" คุณรวยเพื่อนคุณตาย คุณจะมีความสุขได้ยังไง "ในมุมมองของผม เล่นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า เราเล่นหุ้นมวลชน ได้-เสียไม่ต่อว่ากัน" ก่อนจะบอกว่า ที่ผ่านมาเห็นมาเยอะ ที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน สุดท้ายก็ทะเลาะกัน หุ้นหลายตัวในชีวิต เสียเพื่อนกันไปก็เยอะ "...เวลาขายหุ้น ผมจะขายหนัก สมมติว่ามี Bid (เสนอซื้อ) 3 ช่อง ถ้าผมอยากจะออก ผมทิ้งช่อง Bid หมด 3 ช่องเลย ยกตัวอย่างหุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC) ผมเคยขายทีเดียว 60-70 ล้านหุ้น จนคนในวงการบอกว่า ผมเล่นหนัก ทุกคนจะรู้ว่าถ้ามี Bid เยอะๆ แล้วผมไม่สบายใจ ผมออกไปเลย 3 ช่อง หลบกันแทบไม่ทัน"
นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ก็เคยโดนเจ้าของหุ้น "หลอก" มาแล้ว ประมาณว่า "แง้มข่าวดี" ให้เข้าไปซื้อ แต่ตัวเองแอบเทขายหุ้นออกมาให้ก็มี ซึ่งในวงการนี้จะมีการ "ขี่กัน" เล็กๆน้อยๆ
"เรื่องข่าวลือ หรือ ข่าวอินไซด์ ผมฟัง...แต่ไม่ได้เชื่อ คนที่อยู่ในวงการระดับ 10-20 ปี คิดว่าไม่มีใครเชื่อ ถ้ามีหุ้นตัวนั้นอยู่จะขายออกไปด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ลับ ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง" เสี่ยยักษ์ สรุปหลักการ "ขายหุ้น" กรณีที่มี "ข่าวลือ" หลุดออกมาก่อนว่า เราต้อง "Sell on Fact" (ขายเมื่อมีข่าวจริง) หรือ "Sell on Good News" (ขายเมื่อมีข่าวดีกระจายไปทั่ว) กฎข้อนี้ยังใช้ได้ดีในตลาดหุ้น เพราะพวกที่ปล่อยข่าว กำหนดราคาเป้าหมายได้ พวกนี้ต้อง "เสือ" เท่านั้นถึงจะทำได้
------------------------------------------------------
ตอนที่ 13 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"
------------------------------------------------------
การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่าเล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นให้ได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์" ตลาดหุ้นแบบไหนที่เล่นหุ้นแล้วไม่ค่อยได้ตังค์...? (น่าเบื่อ)
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์บอกว่า กรณีที่ "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัวและ "ฝรั่ง" ไม่เข้า ตลาดหุ้นช่วงนั้นจะเงียบเหงา(ไม่น่าเล่น) บอกได้เลยเล่นหุ้นไปก็ไม่ได้เงิน อยู่นิ่งๆดีที่สุด ถ้าคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อธิบายได้ว่า เพราะเงินไม่มีมาหมุน "ทำกำไรยาก" "ถ้าจะเล่นหุ้นแล้วได้เงิน "รายย่อย" ต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรต้องตาม(น้ำ)กันแหลก! หุ้นมันจะวิ่งจู๊ด หรือขึ้นไปทำนิวไฮ(จุดสูงสุดใหม่)ได้" เสี่ยยักษ์อธิบายว่า ช่วงที่หุ้นขาขึ้นมันจะมีจังหวะ "พักตัว" จากนั้นให้สังเกตว่า มักจะมีข่าวดีมา "หนุน" จังหวะสองที่ทุกคนมองว่าราคามันวิ่งขึ้นไปทำ "นิวไฮ" ช่วงนี้แหละ นักเก็งกำไรจะแห่ตามกันแหลก!!
ทั้งนี้ สำหรับช่วง "พักตัว" ในหุ้นพื้นฐานดีๆจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ค่อยรีบร้อนขึ้น (จะตรงกันข้ามกับหุ้นปั่น ที่รีบร้อนขึ้น) ยกตัวอย่าง หุ้น ปตท. เวลาเขาจะทำหุ้นตัวนี้ เขาจะต้องค่อยๆเก็บ บีบให้เหลือแต่คนที่ "ใจถึง" จริงๆ พอทุกคนหมดแรง มันก็จะ "วิ่ง"
"ยิ่งหุ้นตัวใหญ่ ถ้าเขารู้ว่าตอนไอพีโอ มีคนไปแย่งกันจอง(หุ้นไม่พอขาย) พอเข้าตลาดมาปั๊บ! เขาจะพยายามกดราคา เพื่อกดลงมารับต่ำๆ ถ้าวันแรกเปิดมาสูง เขาก็จะเทรดให้หุ้นต่ำลงมาก่อน ...แต่คุณดู พอมันเก็บของ(สะสมหุ้น)ได้พอแล้ว สังเกตว่า "วอลุ่มพีค" (เก็บของได้แล้ว) ราคาปรับตัวลงมาเสร็จ คราวนี้ปริมาณซื้อขายจะไม่ได้เยอะ สภาพคล่องจะเริ่มตึงขึ้น ราคาจะค่อยๆขยับขึ้นช้าๆ บางทีก็เล่นไซด์เวย์อยู่นาน จนคนซื้ออึดอัด ใครทนไม่ไหวก็ "คืนของ" ให้เขา แต่พอเขารวบรวมหุ้นได้เต็มที่แล้ว พอ MACD (ระยะเดือน) ตัดขึ้น ทีนี้มันวิ่งขึ้นเร็วมาก"
เสี่ยยักษ์อธิบายว่า ส่วนตัวชอบใช้กราฟ MACD ระยะเดือน (Month) เป็นดัชนีชี้นำหลักสำหรับการลงทุน "รอบใหญ่ๆ" ที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผลดีมาตลอด แต่ถ้ามาถามรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี "ผมไม่รู้" แต่รู้ว่าถ้า MACD ทะลุ "ศูนย์" ลงไปเลย "ไม่ดี" แต่ถ้า MACD อยู่ต่ำกว่าศูนย์ มันจะขึ้นมาที่ศูนย์ก่อน จากนั้นหุ้นจะปรับตัวลงอีกรอบ คือมีการพักตัวรอบใหญ่ แล้วถ้ามันกลับมาที่ "ศูนย์" อีกที บีบตัวแล้ว "ตัดขึ้น" คราวนี้หุ้นจะเป็นขาขึ้น "รอบใหญ่"
เสี่ยยักษ์บอกว่า ระหว่างการ "ก่อตัว" ของหุ้น จากประสบการณ์ดูกราฟราคาเราจะรู้เลยว่าถ้าใครดูเป็น (รู้จริง) กราฟไม่มีหลอก อย่างเช่น หุ้น ATC ถ้าจับจุดถูก MACD ระยะเดือน ตัดขึ้นชัดเจนช่วงปลายปี 2545 สัญญาณดีมาก แต่ก็ต้องทำการบ้านด้านปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ารีบเข้าไปซื้อ "ตอนนั้นทั้งกราฟและข้อมูลพื้นฐาน ยืนยันในทิศทางเดียวกัน เรารู้เลยว่าหุ้นตัวนี้มันจะ "เทิร์นอะราวด์" พอวงจรปิโตรเคมีมันมา (ปี 2546) หุ้นขึ้นมหาศาลเลย" หรืออย่างหุ้น ปตท. ตัว MACD ระยะเดือน มันตัดลงมาตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว หุ้น ปตท.ค่อยๆลงมาจาก 270 บาทลงมา 200 บาท ช่วงนี้รู้เลยว่ามันกำลังพักตัว (หลังจากขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน 3 ปี ช่วงปี 2546-2548) "ช่วงที่ MACD ของหุ้น ปตท. ตัดลงมา ทั้งสองเส้นมันยัง "ถ่าง" กันอยู่เยอะ ผมก็รอให้ MACD มันบีบ พร้อมที่จะตัดขึ้นก่อน เราถึงจะมีจุดมั่นใจเข้าซื้อ (เพื่อเล่นรอบใหม่) เรารู้ว่าพื้นฐานของหุ้นดีมากอยู่แล้ว แต่หุ้นทุกตัวจะต้องมีระยะพักตัว บางครั้งอาจจะกินระยะเวลานานหลายเดือน บางครั้งครึ่งปี บางตัวนาน 2-3 ปี"
เสี่ยยักษ์อธิบายถึงระยะพักตัวของหุ้นเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่หุ้นบางตัว "พักตัวนาน" แสดงว่ามี "คนเจ็บ" กับหุ้นตัวนั้นเยอะ มันต้องใช้เวลา "รอ" ผลการดำเนินงานหรือข่าวดี หุ้นถึงจะมีแรงกลับมาสู้ใหม่ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ "กำไรดี" อยู่แล้ว ระยะพักตัวก็อาจจะไม่นานมาก วิธีการในการวิเคราะห์หุ้นระดับ "ลึก" ของเซียนหุ้นรายนี้ มีขั้นตอนอย่างไร
"สมมติ ผมจะวิเคราะห์หุ้น ปตท. เรารู้ว่ากำไรสุทธิปีนี้ ไม่น่าจะหนีหุ้นละ 30-35 บาท เทรดกันที่ค่า พี/อี ต่ำแค่ 6-7 เท่า เราก็ประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่สูงอย่างนี้ไปอีกหลายปี หุ้นปตท. ยังไงก็ต้องดี แต่หุ้นลงมาเหลือ 210-220 บาท คราวนี้เราก็รอเวลาให้กราฟ MACD ยืนยันการ "ตัดขึ้น" ก่อน เราค่อยเข้าไปซื้อ เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงก็จะไม่สูง ระยะเวลา "รอ" ราคาวิ่งขึ้นก็ไม่นานด้วย"
มันเป็นสูตรวิธีคิดว่า การที่ MACD มันบีบแล้ว "รอ" ตัดขึ้นเหนือ "ศูนย์" ราคาหุ้นอยู่ในเขต "Oversold" คือ อยู่ในเขตขายมากเกินไป จนข่าวร้ายไม่มีผลต่อราคา ไม่มีทางร้ายไปกว่านี้แล้ว คนที่ติดหุ้นอยู่จะให้ขายก็ไม่อยากขายขาดทุนมาก จะให้บุ่มบ่ามรีบซื้อก็ยังไม่กล้าซื้อ นิ่งๆเฉื่อยๆชาๆ "จุดนั้นคือจุดที่อันตรายที่สุด แต่เป็น...จุดที่ปลอดภัยที่สุด คือประมาณ ตี 5 ถึง ตี 5 ครึ่ง จ่ายกับข้าวสบายๆ ไม่ต้องแย่งกับใคร ถ้าอยากจะรวย คุณต้องรอจังหวะนี้ให้ได้"
------------------------------------------------------
ตอนที่ 14 รู้จักคำว่า "รอคอย"
------------------------------------------------------
ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้นคือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้ ความสำเร็จที่ยากที่สุดอาจไม่ใช่การเดินทางเพื่อค้นหา "กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ" เพราะพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แท้ที่จริงแล้วคือ การเอาชนะจิตใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน ในตลาดหุ้น การ "รู้เขา" อย่างเดียว มิอาจไปถึงเป้าหมายได้ ต้อง "รู้เรา" อย่างถ่องแท้ด้วย ไม่เช่นนั้นเงินที่กลาดเกลื่อนอยู่ในตลาดหุ้น ก็ไม่สามารถ "หยิบ" ขึ้นมาเชยชมได้ คำจำกัดความสั้นๆที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เน้นย้ำก็คือ ถ้าอยากจะเล่นหุ้นให้รวย ต้องรู้จักคำว่า "รอคอย" (อดทน) ต้องรอจังหวะ รอรอบของมันให้ได้ แล้วทำไม! จะรอมันไม่ได้ คุณต้องนิ่ง คุณต้องใจเย็นๆ "ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพเล่นหุ้น คุณต้องเป็นมืออาชีพให้ได้ คุณถึงจะอยู่รอด"
เสี่ยยักษ์ บอกว่า "หุ้นในดวงใจ" ไม่ได้มีกันทุกๆเดือน บางทีต้องรอคอยนานเป็นปีถึงจะเจอ "รอบใหญ่" สักตัว สมัยก่อนรายย่อยเป็นใหญ่ในตลาดหุ้น "หุ้นเก็งกำไร" ครองเมือง วางมาร์จิน 30% เล่นหุ้นได้ 100% เล่นกัน "มันส์"สุดๆ แต่สมัยนี้ฝรั่งคุมตลาดหุ้นเราหมดแล้ว ของเรา 100 หัวสมอง เล่นหุ้นไม่ตรงกันเลย แต่ของเขา 10 หัวสมองเล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขาคิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นยุคนี้ต้องเล่น "หุ้นพื้นฐาน" ถึงจะมีโอกาส เสี่ยยักษ์เล่าว่า วิธีการเล่นหุ้นสมัยก่อน รายใหญ่จะใช้วิธีการ "อมหุ้น" แล้ว "ลาก" ขึ้นยาวๆไม่มีตก แล้วเล่นกันทั้งกระดาน รายย่อยจะ "เล่นรอบ" ได้ตลอดเวลา พอออกจากตัวนี้ ถ้าตัวไหนยังไม่ขึ้น ก็เข้าตัวนั้นดักทางไว้ก่อน ผิดกับยุคสมัยนี้ เล่นหุ้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว พฤติกรรมของตลาดเปลี่ยนไปหมด หันมา "เลือกตัวเล่น" (ฝนตกไม่ทั่วฟ้า) ยกตัวอย่างเช่น ถ้า BAY-W1 ขึ้น หุ้นวอร์แรนท์จะขึ้นกันทั้งกระดาน ปาเป้าตัวไหนก็ถูก ผิดกับตอนนี้ BAY-W1 ขึ้นตัวเดียวตัวอื่นลงหมด เป็นต้น
ในสมัยก่อนถ้า "เจ้าของหุ้น" อยากให้หุ้นของตัวเองขึ้น เขาจะลากขึ้นไปให้ถึงจุดสุดยอดเลย (เล่นยาว) แต่เดี๋ยวนี้ เปล่า! เจ้าของหุ้นมันคิดแบบว่า จะ "ถอนทุนคืน" เร็วๆ เขาคิดว่าหุ้นอยู่ในกระเป๋าตัวเอง ขายแล้วได้ตังค์เลย จะ(โง่) ถือนานไปทำไม! พอเอาหุ้นเข้าตลาด (ขายไอพีโอ) เสร็จ ก็ทยอยปล่อยหุ้นขาย รวยอยู่คนเดียว ใครไปซื้อหุ้นอย่างนี้ก็ "ซวย" !!! สำหรับหุ้นที่ดี "ผู้บริหาร" หรือ "เจ้าของ" จะต้องไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นคือไม่มีพฤติกรรมทุจริต และต้องดูแลหุ้นของตัวเอง หุ้นอย่างนี้จะมี "รอบเล่น" เสี่ยยักษ์กล่าวว่า คนเล่นหุ้นทุกคนจะต้องเคยมีประสบการณ์ "เฉียดรวย" (เจอหุ้นขึ้นรอบใหญ่)มาหมด แต่ทำไม! หลายคนเล่นหุ้นแล้วไม่ได้ตังค์หรือได้กำไรน้อย สาเหตุที่คุณไม่ชนะ เพราะเจอแบบไม่มีกลยุทธ์ กล้าๆกลัวๆอ่านตลาดไม่ขาด จะซื้อตามก็ไม่กล้า (จะรอให้มันปรับฐานราคาก่อน...สุดท้ายก็ไปซื้อแพง) หุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบขายตัดกำไรทิ้ง เท่าที่สังเกต...พฤติกรรมอย่างนี้ จะเกิดกับคนที่เทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด เพราะการตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย ข้อเสียอีกอย่างคือ ใจไม่นิ่ง
ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคมันพร้อม (ตัดขึ้นก่อน) พื้นฐานหุ้นรองรับ จุดสำคัญ...ถ้าตลาดหุ้นช่วงไหนคนเริ่มกลัวกันหมด "แหยงตลาด" ตรงจุดนั้นคือ "จุดที่ปลอดภัยที่สุด" ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้เลย "นี่คือ..เคล็ดลับ" เมื่อสอบถามเสี่ยยักษ์ถึงประสบการณ์ "เฉียดตาย" และ "เฉียดรวย" "ส่วนใหญ่จะ "เฉียดตาย" (รอด)มากกว่า ยกตัวอย่างหุ้นธนายง สมัยก่อน 600-700 บาท แล้ววันนี้เป็นยังไงเหลือ "บาทกว่า" หุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปิดกันหมด ดัชนี SET ลงมาเหลือ 200 จุด ถ้าใคร Cut Loss ไม่เป็นฟันธงเลยว่า "ตาย" หมด"
เพราะฉะนั้นการเล่นหุ้น เราต้องมี "เป้า" ในใจตลอดเวลาว่า ถ้าราคาลงมาเท่าไร? คุณต้องขาย ยกตัวอย่าง วันที่เกิดเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดถล่ม (11 กันยายน 2544) วันเดียวโดนไป 26% เรามองว่าเรื่องมันคงไม่จบง่ายๆ ต้องมีการแก้แค้น "เวลาที่เกิดเหตุการณ์ช็อก!ตลาด ผมจะประเมินว่า จากนี้ไปสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้มากมั้ย! ถ้าคำตอบคือ "ไม่มีทาง" นั่นหมายถึงว่า เราต้องยอมขาย(ขาดทุน) ผมมีคติว่า ถึงคราว "แพ้" ก็ต้องยอมแพ้ ต้องกล้าขาดทุน พอเปิดตลาดมาดัชนีดิ่งลงเหว ผมก็รอให้มันรีบาวด์แล้วก็ขายล้างพอร์ตหมด จำได้ว่าตอนนั้นขาดทุนไป 20-30 ล้านบาท"
เสี่ยยักษ์บอกว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ไม่มีใครที่ซื้อหุ้น "ถูกตัว" หมดทุกครั้ง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาชีพเราต้องมอง "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" อยู่ตลอดเวลา ถ้าลงมาถึงตรงไหน คุณต้องตัดสินใจเด็ดขาด "คนที่พลาดมักจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ไม่เด็ดเดี่ยว แล้วชอบอ้างเหตุผลมากลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเอง...ลองไปคิดดูว่าจริงอย่างที่พูดหรือไม่"
เครดิต : เนชั่นกรุ๊ป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น