ในหัวข้อตามรอยเซียนหุ้น คงจะแปลกไม่น้อยถ้าจะไม่มีบุคคลซึ่งถือเป็นต้นแบบของนักลงทุนทั่วโลกผู้นี้ "วอเรน บัฟเฟต" นักลงทุนในหุ้นเน้นคุณค่าหมายเลขหนึ่งของโลก เขาเป็นต้นแบบให้เซียนหุ้นทั้งในเมืองไทยอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิราวรากร และเซียนหุ้นคุณค่าอีกหลายต่อหลายท่านทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบัน นักลงทุนเกือบทุกคนคงไม่มีใครไม่รู้จักเขา.....แม้ตัว วอเรนเอง จะไม่เคยเขียนหนังสือเผยแพร่แนวคิดด้านการลงทุน แต่กลับมีหนังสือมากมายที่ตีแผ่เรื่องราว ทั้งชีวิตส่วนตัว และแนวทางการลงทุนของเขาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจเป็นเพราะ วอเรน ได้ติดทำเนียบมหาเศรษฐีท็อป 10 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และเคยขึ้นอันดับหนึ่งในปี 2552 แซงเจ้าพ่อไอทีอย่างบิล เกตต์ เรื่องราวและหลักการลงทุนของเขาจึงเป็นเรื่องราวที่ชวนติดตามและน่าศึกษาอย่างยิ่ง
วอเรน บัฟเฟตซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุได้สิบเอ็ดขวบ (ภายหลังเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขาเริ่มลงทุนในหุ้นช้าไป) หุ้นที่เขาซื้อ ราคาร่วงลง ทำให้เขาวิตกกังวลมาก เมื่อราคาหุ้นเด้งกลับมาจนมีกำไร เขาจึงขายหุ้นนั้นด้วยความโล่งอก แต่หลังจากนั้น หุ้นดังกล่าวก็ทะยานขึ้นอย่างมากมาย ประสบการณ์ครั้งแรกนั้นทำให้วอเรนจดจำข้อเสียของการขายหุ้นเร็วเกินไป!!!!!
ในวัยหนุ่ม วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อได้ศึกษาแนวทางของ เบนจามิน แกรแฮม ที่เรียกว่า Value Investment ผ่านหนังสือการลงทุนที่ชื่อ The intelligence investor ซึ่งสอนให้มองการซื้อหุ้นให้เหมือนการซื้อธุรกิจจริงๆ มากกว่าการซื้อเศษกระดาษ วอเรนกล่าวว่า แนวคิดนี้ช่วยทำให้เขาตาสว่าง
ในช่วงแรก วอเรนยึดมั่นในวิธีของเบน แกรมอย่างเหนียวแน่น เขาเลือกลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ ซึ่งหมายถึง หุ้นที่มีราคาต่ำกว่าสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมาก มากเสียจนซื้อแล้วแทบไม่มีอะไรจะเสียได้อีกแล้ว
แต่ต่อมา เขาก็ค้นพบว่า ที่จริงแล้ว ธุรกิจจะมีบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีค่ามากมายกว่าสินทรัพย์ในงบดุล เป็นอย่างมาก เขาเรียกมันว่า Franchise Value หลังจากนั้น วอเรน ก็เริ่มลงทุนด้วยการค้นหาบริษัทที่มี Franchise Value เป็นหลัก นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนของวอเรนในช่วงหลัง แซงหน้าเบนจามิน แกรม อย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงนี้ เขายังได้ศึกษาแนวการลงทุนของ Philip Fisher อีกด้วย ซึ่งเน้นให้ลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตที่ยาวไกล และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง ทำให้วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการผสมแนวของแกรแฮมและฟิชเชอร์ในสัดส่วน 70:30
การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการใช้เงินจำนวนมากเข้าซื้อหุ้นโคล่าโคล่า ซึ่งวอเรนมองว่าเป็นกิจการที่มี Franchise Value คือ ตราสินค้าที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ เขาซื้อมันที่พีอีเรโชประมาณ 16 เท่า ซึ่งสูงกว่าพีอีตลาดในขณะนั้นถึงเกือบสองเท่าตัว แต่หลังจากนั้น บริษัทโคล่าโคล่าก็มีอัตราการเติบโตของกำไรที่อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี ขยายกิจการไปทั่วโลก ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
หุ้นโคล่าเคยมีราคาสูงสุดในช่วงปี 2000 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บูมสุดขีด ซึ่งทำให้หุ้นของวอเรนมีมูลค่าตลาดสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมามากถึง 16 เท่าตัว ก่อนที่จะถอยกลับลงมาเหลือประมาณ 9 เท่าตัวในปัจจุบัน แม้จะตกลงมามาก แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันที่ยาวนานมากในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากบัฟเฟตเข้าลงทุน ทุกวันนี้แม้ว่าโค้กจะไม่เติบโตมากเท่ากับสมัยก่อน แต่หุ้นโค้กก็ยังให้เงินปันผลแก่เขา ปีละประมาณถึง 1/3 ของต้นทุนที่เขาได้ลงทุนไปทุกๆ ปี
---------------------------------------------
วิธีลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์
---------------------------------------------
วอร์เรน บัฟเฟตต์ มองการลงทุนในหลักทรัพย์เหมือนการลงทุนทำธุรกิจ และธุรกิจที่วอร์เรนสนใจก็คือ ธุรกิจที่สร้างผลกำไรมากกว่าปกติด้วยแฟรนไชส์ที่ผู้บริโภคนิยม เช่น โค้ก มีดโกนยิลเลตต์ หรือไม่ก็วอชิงตันโพสต์ ธุรกิจที่วอร์เรนไม่สนใจเลย คือธุรกิจที่เขาไม่เข้าใจ เช่น คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ หากไม่รู้ว่าอีก 5 ปี ธุรกิจจะไปทางไหน เป็นอันเลิกพูด เขาเป็นนักลงทุนที่มีปรัชญาและความคิดค่อนข้างสุดโต่ง หากเชื่อว่าหุ้นที่เขาลงทุนนั้นมีคุณภาพสูง เขาก็จะถือหุ้นนั้นจนตาย!!!!!!!!
วอร์เรนเคยพูดว่า เขาไม่สนใจภาวะตลาดหุ้นหรือภาวะเศรษฐกิจเลย หากตลาดหุ้นจะปิดไปสัก 5 ปี เขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะตลาดหุ้นในความคิดของเขา เป็นแค่ที่ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ซื้อหุ้นดีราคาถูก เมื่อนักลงทุนทั่วไปตกใจเทขายหุ้นดีๆ ทิ้งด้วยเหตุผลบ้าๆ นี่อาจเป็นเหตุผลที่เขาไม่เคยมีจอคอมพิวเตอร์ไว้ดูราคาหุ้นนาทีต่อนาทีแบบที่นักลงทุนทั้งหลายชอบทำกัน
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่บัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้น เขาลงทุนในหุ้นจำนวนไม่มากนัก แต่หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนจะลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก และเมื่อลงทุนแล้วก็จะไม่ค่อยขายออก เขาจะไม่เข้าไปบริหารกิจการโดยตรง แต่จะนั่งในเก้าอี้กรรมการบริษัทคนหนึ่งเท่านั้น ทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนเรื่องใหญ่ๆ ของบริษัท
------------------------------------------------------------------------------------------
บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (โดย Michael Brush)
-----------------------------------------------------------------------------------------
บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (โดย Michael Brush)
-----------------------------------------------------------------------------------------
ข้อแรก จงเป็นผู้มัธยัสถ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย อาทิเช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้น เวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง
ข้อสอง จงยึดหลักช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้น จากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหุ้น ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและเกิดความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุ อาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น บัฟเฟตต์จะอาศัยช่วงเวลาดีๆแบบนี้เข้าไปเก็บหุ้น โดยเราจะพบรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์ และด้านการขนส่งทางรถไฟ ฯลฯ ในช่วงที่เกิดวิกฤติเสมอ
ข้อสาม จงเดินทวนกระแส บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้ว เขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้าม เนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จะไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนที่ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายส่งผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์จะถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมักมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท อย่างไรก็ตามบัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่างๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น
ข้อสี่ จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี่ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคธุรกิจอื่น
ข้อห้า จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง
ข้อหก จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา "มูลค่าภายใน" (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้ายๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมากๆ บริษัทนั้นก็น่าสนใจเพราะมี "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (margin of safety) สูงมาก
บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น แต่สนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มากๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปี เพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่างๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์
ข้อเจ็ด จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดี และมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมาก อาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟ เพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก
ข้อแปด จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" สูงมากๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น!!!!!!!
ข้อเก้า จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อยๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละ 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท
ข้อสิบ จงเชื่อมั่นในอเมริกา บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้าเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว
เครดิต : กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น