19 กุมภาพันธ์ 2554

ก้าวแรกในตลาดหุ้น

ในยามที่ตลาดหุ้นบูมแบบสุดๆ มีการนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ถึงการทำลายสถิติของดัชนีหุ้นมากมายวันแล้ววันเล่า ทำให้คนทั้งรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสนใจ หรือรุ่นเก่าที่เลิกเล่นหุ้นไปนาน หันมาให้ความสนใจตลาดหุ้น โดยดูได้จากมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา.... แต่ไม่รู้ว่านี่เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายของตลาดหุ้นไทยและสำหรับนักลงทุนกันแน่ เพราะนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่เข้ามาเพราะกระแสตื่นตูมจากสังคม เพราะความโลภ แต่ยังขาดการศึกษาค้นคว้าก่อนการลงทุน 2Binvestor เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการถามไถ่ แสดงความสนใจจะลงทุนจากผองเพื่อน ทั้งเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ ว่าถ้าจะเล่นหุ้น ต้องทำยังไงบ้าง วันนี้ถึงถือฤกษ์ดียามดี ที่จะสรุป ขั้นตอนสั้นๆ เพื่อให้สมาชิกใหม่(เหยื่อ)ของตลาดหุ้นทั้งหลาย ได้เข้าใจขั้นตอน และหลักการทำงานของตลาดหุ้น คร่าวๆ เรามีการ์ตูนง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของตลาดหุ้น ลองดูกันเล่นๆนะ
ก่อนจะเข้าเรื่องการเตรียมตัวเพื่อซื้อขายหุ้น อยากจะให้นักลงทุนได้เข้าใจหลักการทำงานของตลาดหุ้นเสียก่อน ว่าตลาดหุ้นคืออะไร เหมือนกับตลาดสดหรือไม่?? จริงๆ มันไม่ต่างกันเลย มันก็คือตลาด ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดกลาง เป็นแหล่งรวมคนซื้อและคนขาย เพื่อให้มาเจอกัน แต่ถ้าจะพูดให้ง่ายกว่านี้ สมัยนี้คงต้องเปรียบเป็นซุปเปอร์มาร็เก็ตในโลตัสมากกว่า คนรุ่นใหม่ๆน่าจะนึกภาพออก!! เพราะบางคนอาจจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ไปตลาดสดนี่เมื่อไรกันนะ

หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คิดซะว่า "หุ้น" เหมือน"ปลาทับทิม"ตัวหนึ่ง ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของปลาทับทิบ เราก็ต้องไปโลตัส ไปซื้อที่ตลาดนั่นเอง ตลาดหุ้นก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นที่วางขายของประมาณนั้นแหละ
รู้จักตลาดกันไปแล้ว แล้ว "หุ้น" ล่ะคืออะไร อันนี้ง่ายมาก ก็คือ ความเป็นหุ้นส่วนในกิจการนั่นเอง สมมติง่ายๆ เรากับเพื่อนอีก 3 คน ร่วมกันเปิดร้านกาแฟ โดยลงทุนคนละ 25 บาท เท่าๆกัน รวมเป็นเงินลงทุน 100 บาท สมมติ มี 100 หุ้น ก็เท่ากับลงทุนหุ้นละ 1 บาท แสดงว่าเราถือหุ้น 25 % หรือ 25 หุ้น นั่นเอง 1 ปีผ่านไป เพื่อนคนนึงมีความต้องการจะขายหุ้น จึงมาถามเรามาสนใจจะซื้อไหม สิ่งที่เราจะถามต่อไปก็คือ ราคา???? เท่าไรกันล่ะ เอ่หุ้นละ 1 บาทเท่ากับต้นทุนที่เราเคยลงไปปีก่อน หรือว่าจะแพงกว่า หรือถูกกว่า ตรงนี้ ง่ายมาก เราต้องมาดูว่า ธุรกิจร้านกาแฟของเรานั้นเป็นอย่างไร ถ้ายอดขายเติบโตดี กำไรก็ดี ตรงนี้ ราคาก็น่าจะแพงกว่า 1 บาท แต่ถ้าขายแทบไม่ได้ ขาดทุนตลอด อันนี้ ก็น่าจะถูกกว่า 1 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนที่จะขายหุ้นให้เราว่าเขายินดีขายที่กี่บาท จากนั้นก็เป็นเรื่องของเราที่จะตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ ก็เหมือนกับการซื้อหุ้นในตลาดหุ้น บริษัทชื่อดังมากมายนำหุ้นของบริษัทตนเองออกมาขายให้ประชาชนทั่วไป (เพื่อระดมทุน....ขายหุ้นก็ได้เงินไปลงทุนต่อนั่นเอง ) จากนั้น ก็มีการซื้อขายหุ้นเปลี่ยนมือกันระหว่างนักลงทุน ตรงนี้แหละ ที่เรียกว่าซื้อขายหุ้น หุ้นซึ่งแสดงความเป็นเจ้าของในกิจการที่เราถือครองหุ้น .... (แต่น่าแปลก คนที่เล่นหุ้นไม่ได้มองแบบนี้ แต่มองแค่ว่าซื้อถูก ขายแพงก็พอ ไม่สนว่าหุ้นอะไร กิจการทำอะไร) บางที่ซื้อปุ๊บ ขายปั๊บ ภายในห้านาที
และโบรกเกอร์ คือใครกัน โบรกเกอร์ คือคนที่ทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อ คำสั่งขายจากเรา เพื่อส่งคำสั่งนั้นไปยังตลาดหุ้นเพื่อทำการจับคู่คำสั่งกับนักลงทุนคนอื่น โดยโบรกเกอร์จะได้รับค่านายหน้าในการซื้อขายจากเรา โดยคิดเป็น %ของมูลค่าการซื้อขาย ทั้งขาซื้อและขาขาย โดยคนที่ทำหน้าที่ติดต่อเพื่อซื้อขายหุ้นให้เรา จะเรียกว่า Marketing และเนื่องจากรายได้ของ โบรกเกอร์ มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายของเรา เพราะยังงี้ โบรกเกอร์จึงชอบออกบทวิเคราะห์หรือโทรมาเชียร์ให้เราซื้อๆขายๆ ยังไงล่ะ

หลังจากที่ เข้าใจการทำงานของตลาดหุ้นแล้ว แล้วยังงี้ ถ้าเราต้องการจะเล่นหุ้น ต้องทำยังไงบ้างล่ะ
ก่อนอื่น เราต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ ซึ่งมีให้เราเลือกมากมาย โดยวิธีเลือกโบรกเกอร์นั้น ง่ายมากก็เอาโบรกเกอร์ที่เพื่อนใช้หรือเคยผ่านหูผ่านตาก็พอ เพราะปัจจุบัน โบรกเกอร์แต่ละแห่งคิดค่าธรรมเนียมและให้บริการไม่แตกต่างมากนัก เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก การคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่าเจ้าอื่นเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนเรื่องความน่าเชื่อถือ ตรงจุดนี้ โบรกเกอร์แต่ละรายต้องได้รับการตรวจสอบจาก กลต และตลาดหุ้นอยู่แล้ว เพราะงั้น สบายใจได้ โดยการเปิดบัญชี ก็แค่โหลดเอกสารจากหน้าเว็บไซต์ของโบรกเกอร์ กรอกข้อมูลและส่งหลักฐานตามที่เขาต้องการ ไม่กี่วัน เราจะได้รับการติดต่อกลับ เมื่อเปิดบัญชีแล้ว เราจะได้รับเลขบัญชีสำหรับการซื้อขาย ก็คล้ายๆกับเลขบัญชีเงินฝากธนาคารน่ะแหละ แค่เราไม่ได้สมุดบัญชีเงินฝากเท่านั้นเอง
หลังจากที่เราเปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับประเภทของบัญชีที่เราเปิด ถ้าเปิดเป็น cash balance อันนี้ เราต้องโอนเงินสดเข้าไปที่บัญชีซื้อขายหุ้นก่อน ไม่งั้นเราจะยังซื้อหุ้นไม่ได้ โดยหลังจากโอนเงินเข้าไป เราไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นในทันที เค้าไม่ได้บังคับ นอกจากนี้ เราจะได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินด้วย (มากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์!!!) ดังนั้น ไม่ต้องรีบร้อน รอจังหวะในการเข้าซื้อหุ้นที่เหมาะสม แล้วค่อยลุย ส่วนบัญชีอีกแบบ คือบัญชี Margin อันนี้ เราไม่ต้องโอนเงินเข้าไป เราก็มาสามารถซื้อหุ้นได้ โดยเราจะต้องชำระค่าหุ้นไม่เกิน 3 วันหลังจากที่ซื้อ แต่บัญชีแบบนี้ ต้องมี statement แสดงฐานะที่ค่อนข่างน่าเชื่อถือ หรือมีเงินสดโชว์ในบัญชีนั่นเอง เราถึงจะเปิดได้ แต่ยังไง การโอนเงินก่อนก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต อาจเป็นข้อดีด้วยซ้ำไป เพราะเราจะได้รู้ความสามารถหรือกำลังเงินที่แท้จริงว่าเรามีเงินออมหรือเงินเย็นเท่าไรเพื่อใช้ในการลงทุน การลงทุนจะได้ไม่มากเกินกำลังนั่นเอง (ปัจจุบันไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการโอนเงิน เพราะงั้นมีเงินออมเท่าไรก็ลงทุนได้)
เมื่อโอนเงินพร้อม จากนั้น ก็เป็นเรื่องของความสามารถในการเลือกและวิเคราะห์หุ้นของแต่ละคนแล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีบทวิเคราะห์หุ้น และเว็บไซต์มากมายที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ในการเลือกหุ้น หากเรามีความตั้งใจศึกษาอย่างจริงๆ เชื่อว่า การปล่อยให้เงินทำงาน ย่อมก่อให้เกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้อย่างแน่นอน....
By 2Binvestor

1 ความคิดเห็น: