19 พฤษภาคม 2558

ณัฐชาต คำศิริตระกูล ลาออกจากงานประจำได้ด้วยการลงทุน

พอร์ตใหญ่เท่าไรไม่ยอมบอก แต่รับเงินปันผล 'หลักล้านบาท' ต่อปี 'กานต์' ณัฐชาต คำศิริตระกูล อดีตมนุษย์เงินเดือน 'เครือซิเมนต์ไทย' วัย 32 ปี 

เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็อยากไปทำงานด้วย แต่ “กานต์” ณัฐชาต คำศิริตระกูล อดีตวิศวกรฝ่ายการตลาด บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) วัย 32 ปี เขาเลือกที่จะทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นบาท หน้าที่การงานที่ใครหลายคนมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง มีโอกาสก้าวหน้า และมีสวัสดิการดีเป็นเลิศ ตัวเขากลับมองว่าอาชีพลูกจ้างชาตินี้คงหาความมั่นคงไม่ได้ ทันทีที่สิ้นเสียงความคิด! มนุษย์เงินเดือนอย่างเขาก็พร้อมสบัดเก้าอี้ที่เคยนั่งทำงานทุกวัน เพื่อออกไปแสวงหาความยั่งยืนให้กับชีวิต ด้วยการเล่นหุ้นอย่างมีสติ

 "ผมลงทุนแนว Value Investor มา 7 ปีแล้ว เพิ่งลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2554 เพื่อมาลงทุนอย่างจริงจัง อีกอย่างต้องการทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับสมาคมฯ และต้องการมีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น ตอนนี้ตั้งใจจะนำเงินที่ได้จากการลงทุนไปซื้อที่ดิน เพื่อปลูกบ้านให้พ่อกับแม่ที่จังหวัดขอนแก่น และกำลังจะหาซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเอง ทุกวันนี้ยังเช่าเขาอยู่" 



เซียนหุ้นหนุ่ม เล่าต่อว่า เปิดพอร์ตครั้งแรกในปี 2548 ช่วงแรกๆ ลงทุนค่อนข้างกระจัดกระจาย รู้แค่ว่าต้องซื้อหุ้นที่มี P/E ต่ำๆ และเงินปันผลเยอะๆ สุดท้ายก็มารู้ว่าหุ้นลักษณะนี้เป็น “หุ้นวัฎจักร” กำไรมันเยอะ เพราะอยู่ในช่วงพีคของธุรกิจ 

"ผมโชคดีที่รู้ตัวเร็ว ถือหุ้นไม่ถึงเดือนก็ขายออกมา ไม่ได้กำไรหรือขาดทุน ตอนนั้นซื้อหุ้น สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และหุ้นโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) หลังขายหุ้นหมด ก็กลับมาตั้งหลักใหม่ คราวนี้เริ่มไม่สนใจราคาหุ้นหรือค่า P/E มากจนเกินไปแล้ว ใช้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จะเน้นดูพื้นฐาน และอัตราการเจริญเติบโตเป็นหลัก ช่วงนั้นผมเดินสายไปฟังงานสัมมนาต่างๆ เกือบทุกเดือน" 

เขาเดินสายไปทุกงาน โดยเฉพาะงานที่มี ดร.นิเวศน์เป็นวิทยากร ช่วงนั้นสมองเริ่มซึมซับแนวคิดการลงทุนแนว VI มากขึ้น เพราะทำให้รู้วิธีคิดของคนเก่งๆ ทำไมเขาถึงซื้อหุ้นตัวนี้ มีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร ใช้เหตุผลอะไรในการเลือก เขาต้องการเรียนรู้วิธีการจับปลา ไม่ใช่รอให้เซียนหุ้นบอกใบ้หุ้นให้ ซึ่งมันไม่ยั่งยืน 

เซียนหุ้นรายนี้ ไม่ขอเปิดเผยรายชื่อหุ้นที่ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ แต่บอกกว้างๆ ว่าสนใจหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ อาทิเช่น กลุ่มอาหาร ค้าปลีก และโรงพยาบาล เพราะเป็นธุรกิจใกล้ตัว เข้าใจง่าย ที่สำคัญกำไรมีอัตราเติบโตปีละ 20% ธุรกิจมีเงินสดเยอะ ไม่มีหนี้ แถมผลตอบแทนจากเงินปันผลดี ยิ่งตัวไหนให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8-9% เมื่อราคาลงมาก็จะสะสมไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ในพอร์ตมีหุ้นเฉลี่ย 5 ตัว โดยจะถือนาน 1-2 ปีขึ้นไป ส่วนมูลค่าพอร์ตลงทุนขอไม่พูดถึง เอาเป็นว่าทุกปีได้เงินปันผลมากกว่าเงินที่ลงทุนไปในช่วงแรกเยอะมาก ตอนนี้ก็ปาเข้าไป "หลักล้านบาท" ต่อปีแล้ว 

“ผมลงทุนในตลาดหุ้นมา 7 ปี โดย 4 ปีแรก ได้กำไรเฉลี่ยปีละ 30-40% จากนั้นในปี 2551 เจอวิกฤติซับไพรม์ ทำให้พอร์ตขาดทุน 10-20% แต่หลังจากนั้นผลตอบแทนก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ” 

แม้ ณัฐชาต จะไม่เปิดเผยพอร์ตการลงทุน แต่จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek พบว่า ณัฐชาต คำศิริตระกูล จะลงทุนคู่กับ รุ่งศักดิ์ คำศิริตระกูล ในทิศทางเดียวกัน ปัจจุบันถือหุ้น เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS)  รวมกัน 3,799,200 หุ้น มูลค่าประมาณ 56 ล้านบาท ถือหุ้น BGT รวมกัน 5,844,400 หุ้น มูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท และถือหุ้น MACO รวมกัน 2,072,400 หุ้น มูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท เท่ากับว่า ณัฐชาต และ รุ่งศักดิ์ ถือหุ้น 3 ตัวนี้ (AS, BGT, MACO) รวมกันมูลค่าประมาณ 86 ล้านบาท 

ถามถึงกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน เซียนหุ้นหนุ่มวัย 32 ปี เล่าว่า จะเลือกหุ้นที่จะสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20-30% ต่อปี ถ้าได้ผลตอบแทนในระดับนี้ผ่านไป 3 ปี เงินต้นจะเพิ่มขึ้นทันที 1 เท่าตัว ขอแค่อย่ามีการขาดทุนหนักๆ ก็พอ พวกหุ้นที่มีกระแสเงินสดที่ดี หนี้สินน้อย และมีการเติบโตสม่ำเสมอ ก็น่าสนใจ ส่วนใหญ่หุ้นประเภทนี้จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าเจอแล้วซื้อดะ ต้องมาดูก่อนว่าหุ้นตัวนั้น “ป็อปปูล่า” มากหรือเปล่า! ถ้ามากก็ "ยังไม่ซื้อ" 

“เมื่อก่อนแม้จะขาดทุน แต่ไม่เคยหนักหนา ทุกครั้งที่คิดผิดเต็มที ก็จะขาดทุนแค่ 10% ส่วนตัวที่ถือแล้วได้กำไรบางครั้งก็ปล่อยให้มัน Let Profits Run (ปล่อยให้กำไรไหลไปเรื่อยๆ) ถือไปให้นานที่สุด” 

เขาเล่ากลยุทธ์การทำกำไรว่า ส่วนตัวจะชอบหุ้น “นอกสายตานักลงทุนรายย่อย" หุ้นประเภทนี้จะมีเพื่อนน้อย เพราะบอกไปก็ไม่มีใครเชื่อ (หัวเราะ) หุ้นแบบนี้จะไม่มีใครเชียร์ ไม่มีใครพูดถึง เพราะมาร์เก็ตแคปไม่ใหญ่ แต่พวกนี้น่าสนใจมาก ยิ่งเป็นผู้นำของกลุ่มและกำลังจะดีขึ้นรีบซื้อเลย อาทิเช่น ผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้น นโยบายบางอย่างกำลังเปลี่ยนไป หรือผู้บริหารกำลังเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของ เป็นต้น ส่วนพวกหุ้นนอกสายตาสถาบัน ก็ “ปลื้ม” นะ โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำมาจนมีมาร์เก็ตแคปใหญ่ขึ้นระดับหนึ่ง แต่บังเอิญติดเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้นักลงทุนไม่สนใจ เช่น สภาพคล่องต่ำ เป็นต้น ฉะนั้นหากทุกอย่างเริ่มดีขึ้น และตัวเราเข้าใจ ก็ควรรีบซื้อดักทางไว้ก่อน แต่ต้องเลือกตัวที่ดีที่สุด 

“ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นผมจะถามตัวเองเสมอว่า นี่คือการลงทุนหรือการเก็งกำไร ถ้าเป็นการลงทุนเราจะตอบได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีเงื่อนไขตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ถ้าตรงจะกล้าซื้อ 20-30% แต่ถ้าไม่มั่นใจจะซื้อแค่ 5-10% เพื่อดูพัฒนาการของเขา พวกหุ้นผีบอก หุ้นกระซิบ ผมไม่เอาเลย” 

 ถามถึงเป้าหมายการลงทุนจากนี้ เขาบอกว่า จากนี้อยากมีผลตอบแทนจากการลงทุนเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี นั่นแปลว่าทุกๆ 3 ปี เงินในพอร์ตจะเพิ่มเป็น 1 เท่า และ 10 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเปลี่ยนหลัก (เหมือนที่ ดร.นิเวศ พูดกับวีไอ) โดยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่เดินนอกเกมส์ ไม่โลภจนคุมตัวเองไม่ได้ และจะไม่เปลี่ยนหุ้นบ่อยๆ 

“ผมอยากฝากบอกนักลงทุนว่า อย่าไปอยากรู้เลยว่านักลงทุนคนนั้นคนนี้เขาซื้อหุ้นตัวไหน การซื้อตามคนอื่นจะทำให้เราไม่มีความแน่ใจตลอดเวลา ทุกครั้งที่หุ้นลงเราจะใจสั่น และต้องคอยถามคนอื่นจะขายหรือยัง จะขายเมื่อไร สำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบควรเริ่มมองหาความมั่นคงให้ชีวิตตัวเอง การลงทุนแนว VI ก็เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง" อดีตมนุษเงินเดือน แนะนำ 

 เครดิต Bizweek

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น