4 กรกฎาคม 2559

“เสี่ยเคน” โสรัตน์ วณิชวรากิจ ลงทุนหุ้นอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายชีวิต

ควันหลงจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 44 ที่ผ่านมา Money & Wealth จัดเสวนาเชิญ “เสี่ยเคน” โสรัตน์ วณิชวรากิจ มาเสวนาเบาๆ ในหัวข้อ “ลงทุนหุ้นอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายชีวิต” ซึ่งเสี่ยเคนให้ข้อคิด มุมมองจากประสบการณ์ในชีวิตจริงที่น่าสนใจ และในฐานะที่เป็นผู้ฝักใฝ่ธรรมะของพระพุทธองค์ เขาก็ไม่ลืมที่จะนำข้อคิดจากหลักธรรมะมาสอดแทรกอธิบายให้ฟังด้วย

ในด้านชีวิตการลงทุน โสรัตน์บอกว่าเขาได้อ่านเรื่องราวของนักธุรกิจหลายคนที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน เช่น คุณวิชัย พูลวรลักษณ์ เจ้าของ Major Cineplex คุณวิลเลียม ไฮเนคกี้ เจ้าของ Pizza และ Swensens ได้เห็นวิธีการบริหารจัดการของนักธุรกิจเหล่านี้ ชอบมาก พวกเขาเป็นคนเก่ง

“ดูไปดูมา ก็รู้สึกว่า อ่านเรื่องราวของพวกเขาอย่างเดียว ไม่สนุก หากได้มีโอกาสเข้าไปคุยไปศึกษาก็คงจะดี การอ่านเรื่องราวเหล่านั้นมีประโยชน์คือสามารถนำมาดัดแปลงใช้กับกิจการของเราได้ แต่เมื่อศึกษาแล้วพบว่ากิจการนี้ดี และหากได้เข้าไปลงทุน ก็น่าจะดี”

“การที่เราเกาะไปกับเขา เราสามารถเป็น Spider Man เกาะไปกับเขาได้ นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มที่ชอบ หลังจากนั้น ได้เอาความรู้มาใช้ เมื่อพบว่าดี ก็กลับไปลงทุนในกิจการนั้นด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือเกิดความมั่งคั่งตามมาด้วย” โสรัตน์กล่าว

เขามีมุมมองว่าหากนำเงินไปลงทุนใน “หุ้นของบริษัทที่ชนะแล้ว” ก็จะเป็นการย่นระยะและความเสี่ยง ดีกว่าเอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจเอง กล่าวได้ว่าเป็นทางลัดในการเป็นเจ้าของธุรกิจนั่นเอง




“ขี่วิกฤติ” ชีวิตการลงทุน 
การลงทุนในหุ้น นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนมีการพัฒนาแล้ว ยังสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ด้วย โสรัตน์เริ่มลงทุนจริงจังในปี 2548 และได้เจอวิกฤติซับไพร์ม-แฮมเบอร์เกอร์ ในช่วงปี 2550-51 พอร์ตลงทุนของเขาก็ติดลบเหมือนผู้ลงทุนอื่นๆ

“ตอนนั้นมีอาการเศร้ามากมาย จิตใจไม่มั่นคง เป็นการผิดพลาดแม้จะลงทุนในกิจการที่ดีก็ตาม”
 
บทเรียนครั้งนั้นให้ประสบการณ์การลงทุนที่สำคัญ กล่าวคือเขาได้ลงทุน “ถือหุ้นข้ามวิกฤติ” ในช่วงปี 2548 ถือหุ้นยาวมาถึงปี 2551 “มีแต่ความทรมาน นอนฝันร้าย เหงื่อไหล หน้าส่ายไปตลอดเหมือนโดนเข้าสิง ดังนั้นผมจึงอยากจะบอกว่า การลงทุน อย่าลงทุนข้ามวิกฤติ 2540 คือวิกฤติต้มยำกุ้ง 2550 คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนปี 2560 จะเกิดอะไรขึ้นอีกไหม นี่คือสิ่งที่นักลงทุนต้องระวัง”

ช่วงที่โสรัตน์ขาดทุนเยอะมากนั้น เขาใช้เงินลงทุนไป 10 ล้าน ลงทุนในช่วงเวลา 2-3 ปี ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและมีการศึกษามาเป็นอย่างดี สามารถเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนเป็นระดับ 100 ล้านบาทได้ จากนั้นเขาขยายการลงทุนด้วยการใช้เงินกู้มาร์จินจากโบรกเกอร์ ครั้นเจอวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เขาเหลือเงินลงทุนไม่กี่ล้านบาท เพราะโดนบังคับขาย และต้องขายขาดทุนไปเยอะมาก

    “วันนั้นถือว่าเป็นวิกฤติในฐานะนักลงทุน ผมท้อใจมาก เริ่มคิดถึงกรรมเก่า คิดว่าตัวเองทำดีมานาน ทำไมเป็นอย่างนี้ ตอนแรกตั้งใจจะออกจากตลาดหุ้น แต่มีจุดพลิกคือเกิดความรู้สึกในขณะนั่งอยู่คนเดียวว่า หากหนีในครั้งนี้ ก็จะไม่เหลืออะไรเลย จึงคิดว่าจะตั้งต้นใหม่อีกครั้ง และก็ได้ลงทุนใหม่ตั้งแต่ปีแรกของวิกฤติ”


โสรัตน์กลับเข้าตลาดและเริ่มลงทุนระยะยาว โดยไม่ได้เป็นการ “ถือหุ้นข้ามวิกฤติ” เพราะในครั้งนี้อยู่ในรอบของการไม่มีวิกฤติ ซึ่งนักลงทุนต้องมองภาพใหญ่ให้ออกก่อนด้วย
 
ลงทุนด้วยหลักอิทธิบาท 4

การลงทุนหุ้นของโสรัตน์ เขาจะซื้อหุ้นเพียงปีละ 1 ตัวโดยมีการศึกษาธุรกิจของหุ้นที่จะลงทุนมาเป็นอย่างดี เพราะเขามองว่า “การซื้อหุ้นหลายตัวที่คนชอบบอกว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงนั้น ไม่ใช่การลดความเสี่ยง ความรู้ต่างหากที่จะทำให้ความเสี่ยงลดลง”
 
โสรัตน์เป็นนักลงทุนที่มีความตั้งใจ (Passion) สูงมาก เขาบอกกับตัวเองในวันแรกที่เข้าสู่ตลาดหุ้นว่าต้องเป็นนักลงทุนในระดับ TOP ของประเทศให้ได้ “ผมจะทำการลงทุนให้อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ หน้าที่ของผมคือหาจังหวะถอยหุ้นออกมาให้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมสำหรับการวางเงินรอบใหม่ และปล่อยให้เงินทำงาน รอบหน้าผมวางเต็มๆ” โสรัตน์กล่าว
 
ผู้ที่ติดตามโสรัตน์ในเฟซบุ๊กหรือเคยฟังการเสวนาของเขาจะทราบดีว่าเขาเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา น้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์เข้ามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้เขาได้กล่าวถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จตามหลักพุทธศาสนาที่สามารถประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้คือหลักอิทธิบาท 4 : ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

    ฉันทะ คือ ความต้องการที่จะทำใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป หรือหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่เรียกว่า Passion นั่นเอง

    วิริยะ (ความเพียร) คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็งอดทน เอาธุระไม่ท้อถอย หมายถึงขยันศึกษาหาข้อมูลความรู้ เปิดรับฟังข่าวสารข้อมูลธุรกิจเศรษฐกิจ

    จิตตะ (ความคิด) คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป ซึ่งหมายถึงการ Focus จับจ้องในหุ้นที่ลงทุน

    วิมังสา (ความไตร่ตรอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น ให้หมั่นทบทวนการลงทุน

นอกจากหลักอิทธิบาท 4 แล้ว ผู้ที่จะลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จต้องลงทุนในหุ้นที่ถูกต้อง ในราคาที่ถูกต้อง (Right Stock Right Price) ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องขวนขวายใฝ่รู้ มีองค์ความรู้ในการลงทุน หรือที่เขาใช้คำศัพท์ว่า Know Why Know How เพื่อให้รู้ว่าจะลงทุนอย่างไร

ปัจจุบันนี้ แม้มีความมั่งคั่งระดับพันล้านบาท เสี่ยเคนกลับไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่คนทั่วไปนิยมว่าความรวยคือไอดอล เขาบอกว่านั่นคือความผิดพลาด เมื่อถึงจุดหนึ่งคนรวยจะรู้ว่านั่นคือภาระ เขาอยากโปรโมทความคิดใหม่ที่เห็นว่า “ความเท่ใหม่คือความดี ไม่ใช่ความรวย และความเท่ตลอดกาลคือนิพพาน”

    “ดังนั้น การลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตคือเปลี่ยนเงินเป็นความดี เพื่อก้าวไปสู่โลกใหม่แห่งวัฏฏะสงสาร” เสี่ยเคนสรุปทิ้งท้ายไว้ในงานเสวนาวันนั้น

เครดิต : Money Channel

2 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมะกับหุ้น

    ตอบลบ
  2. ยอดเยี่ยมครับ อิทธิบาท4จบด้วยนิพพาน

    ตอบลบ