20 กรกฎาคม 2555

ข้อผิดพลาด 10 ประการของนักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์

ตลาดอนุพันธ์หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Future) เป็นตลาดทุนที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของนักลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ยังพยายามผลักดันให้ตลาดแห่งนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามมุ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ โลหะเงิน น้ำมัน หรือล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแม้ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเหมือนในต่างประเทศ แต่ยังไงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามผลักดันให้ตลาดเติบโตมากแค่ไหน แต่สัดส่วนนักลงทุนที่สามารถทำกำไรได้กลับไม่ได้เติบโตตาม และต้องยอมรับความจริงที่ว่า นักเก็งกำไรในตลาดในตลาดฟิวเจอร์ ส่วนใหญ่มากกว่า 80% จะเป็นผู้ขาดทุน และมีเพียง 20% เท่านั้นที่กำไรและเสมอตัวอยู่ในตลาด
ไม่ต่างไปจาก กฎ 80/20 ของพาเรโต ที่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้จะประกอบด้วยสัดส่วน 80/20 อยู่เสมอนั่นเอง

ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว จริงๆก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะในโลกของเราทุกวันนี้ ก็มักมีคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ล้มเหลวอยู่แล้ว เพียงแต่ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่า ในกลุ่ม 80% นั้น จะมีสักกี่คนที่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด พัฒนาตนเองและเดินแซงหน้าเพื่อมาอยู่ในกลุ่ม 20% ให้ได้ นั่นคือสิ่งท้าทายที่นักลงทุนทุกคนจะต้องทำหากคุณยังต้องการจะอยู่ในตลาดนี้ต่อไป........

ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุนส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอน ล้มเหลวนั้น พบว่ามีข้อผิดพลาดในการลงทุนบางประการที่คล้ายๆ กัน ดังนั้นหากเราเข้าใจถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้และพยายามหลีกเลี่ยงมันได้ก็จะทำให้เรามีโอกาสเข้าไปอยู่ในกลุ่ม 20% มากยิ่งขึ้น

1. Over Trade การลงทุนเกินกำลังของตัวเอง
เนื่องจากการลงทุนในตลาด Futures นั้นใช้หลักประกันเพียงบางส่วนเพื่อทำการซื้อขายสัญญา ซี่งบางสินค้า ใช้เงินหลักประกันเริ่มต้นเพียง 10% เท่านั้น ดังนั้นหากนักลงทุนมีหลักประกันหรือเงินลงทุนที่น้อยแต่อยากที่จะลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มเพดานวงเงินที่สามารถเล่นได้ โดยลืมประเมินถึงมูลค่าของสัญญา และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงในการขาดทุนได้

โดยสถานการณ์ที่ทำให้คนมักลืมตัว และเริ่ม Over trade มีหลายกรณี แต่หลักๆ คือ คนที่มีกำไรในช่วงแรกจนได้ใจ แล้วเกิดความโลภอยากได้กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งมนุษย์ไม่เคยมีความพออยู่แล้ว จึงพยายามเปิดสถานะเพิ่มเพื่อทำกำไรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนลืมคิดว่าเงินที่ลงทุนจริงอาจไม่เพียงพอหากตลาดกลับทางกับสิ่งที่ตัวเองคิดไว้ อีกกรณีหนึ่งคือ คนที่เล่นผิดขาและขาดทุน พวกนี้มักจะพยายามเฉลี่ยต้นทุนเพราะไม่สามารถยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดได้ ยิ่งขาดทุน ยิ่งหน้ามืดและยิ่งพยายามเปิดสถานะเพิ่ม เพราะหวังว่ามันจะเด้งกลับมา

เราจะเห็นว่า ความโลภและความดื้อรั้น จะนำมาซึ่งการขาดสติ และมักจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา เปรียบเสมือนนักพนันที่เล่นตามบ่อนซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใดควรหยุดหรือถอย คนกลุ่มนี้จะยอมจบเมื่อหมดตัวเท่านั้น

2. Always to be the Victor ต้องการเป็นผู้ชนะตลอดเวลา
ไม่มีใครที่สามารถเทรดได้ถูกต้องทุกครั้ง ดังนั้นการได้กำไรและขาดทุนจึงเป็นเรื่องปรกติ ไม่ต่างอะไรจากเกมส์กีฬา ที่จะมีทั้งแพ้ และชนะผสมกันไป เพียงแต่เราแค่ต้องพัฒนาทักษะที่จะสามารถให้ครั้งที่ถูกมากกว่าครั้งที่ผิด (Win/loss Ratio) รวมถึงต้องพยายามควบคุมความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Reward) เพื่อจำกัดการขาดทุนในครั้งที่ผิด และการขยายจำนวนกำไรให้มากที่สุดในครั้งที่ถูก

แต่บ่อยครั้งที่จะเห็นว่า ผู้ที่เคยประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้น ที่ถือคติไม่ขายไม่ขาดทุน อาจนำมาใช้กับตลาดอนุพันธ์ไม่ได้เพราะ เนื่องจากความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่มีการกำหนดระยะเวลาของอายุสัญญา รวมถึงการคำนวนกำไรขาดทุนเป็นวัน และต้องมีการเรียกหลักประกันเพิ่ม ดังนั้น การทนถือ เพื่อไม่ยอมตัดขาดทุน อาจต้องทำให้เติมเงินไม่รู้จบ หรือการขาดทุนอาจจะมีมากกว่าเงินหลักประกันที่เริ่มใช้ในตอนแรกก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้หรือแพ้ไม่เป็น (ไม่ยอม Cut loss) ก็คือผู้ที่แพ้อย่างแน่นอนในตลาดอนุพันธ์

3.ไม่มีวินัย
นักลงทุนมากมายพยายามตั้งกฎการลงทุนหรือระบบของตัวเองขึ้นเพื่อใช้ในการตัดสินใจเข้าออก แต่กลับพบว่าเมื่อการเทรดเริ่มต้นขึ้น นักลงทุนส่วนมากกลับไม่สามารถควบคุมเกมให้เป็นไปตามระบบได้ เพราะในความเป็นจริงนักลงทุนจะถูกอารมณ์ ทั้งความโลภ ความกลัว ครอบงำจนหมดสิ้น ดังนั้น ไม่ว่านักลงทุนจะมีกฎเป็นร้อยเป็นพันข้อ แต่ถ้าไม่สามารถปฎิบัติได้จริงมันก็คงไม่มีความหมายอะไร

ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เราสามารถซื้อขายตามกฎของเราได้นั้น มีเพียง วินัย เท่านั้นที่จะคอยควบคุมการซื้อขายของเราให้มีโอกาสชนะมากกว่าแพ้ แต่แม้ว่าวินัยจะสำคัญเพียงไร เราก็ยังพบว่านักลงทุนที่ล้มเหลวส่วนใหญ่กลับหลงลืมมันเมื่อเข้าสู่สนามแข่งขัน ปล่อยให้การซื้อขายไหลไปตามภาวะอารมณ์ และในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับการลงทุนอยู่ร่ำไป

4.ไม่มีการกำหนด Trading plan
การวางแผน เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ไม่ว่าคุณจะลงทุนในธุรกิจใดก็ตาม ก็จะต้องมีการวางแผนเพื่อจะประเมินถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน แนวโน้ม ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซี่งจะทำให้เราตัดสินใจได้ว่า มันคุ้มค่าต่อการลงทุนในครั้งนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งการลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์ก็คงไม่แตกต่างกัน เพียงแต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะใจร้อน โดยเข้าลงทุนก่อนแล้วค่อยวางแผน แต่ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ เมื่อนักลงทุนเหล่านั้นพิจารณาจาก asset ที่ตนเองลงทุนแล้วพบว่าไม่คุ้มเสี่ยงแต่บังเอิญตนเองได้ซื้อ Asset แล้ว ก็จะพยายามคิดเข้าข้างตนเองด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ เพื่อให้ตนสบายใจหรือคิดว่าตนเองนั้นคิดถูก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะพึ่งโชคชะตา หรือไม่ก็สวดมนต์ภาวนาให้ราคาเป็นไปอย่างที่หวัง

ยิ่งการซื้อขายในฟิวเจอร์นั้น การเทรดจำนวนครั้งที่มากนั้นไม่ได้แปลว่าคุณจะได้กำไรมากตามไปด้วย เพราะทุกครั้งที่ออกหมัดก็เป็นการเปิดความเสี่ยงที่จะโดนสวนหมัดได้ตลอดเวลา จุดนี้คุณต้องตระหนักไว้ตลอดเวลาที่จะตัดสินใจเข้าเทรด

ดังนั้น คนที่จะลงทุนในฟิวเจอร์ จึงจะต้องมีแผนการเทรดก่อนเปิดสถานะเสมอ โดยจะต้องวางระบบที่จะใช้ในการเข้าออก order วาง target และมีจุด stop loss ที่แน่นอน เพื่อลดปัญหาการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ซี่งเมื่อคุณหาจุดเข้าออกได้แล้ว ก็จะทำให้คุณสามารถประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนในรูปของ Risk to Reward Ratio ของการเทรดของคุณได้ โดยอัตราส่วนนี้ไม่ควรต่ำกว่า 2เท่า เช่น หากต้องการทำกำไรต่อครั้งที่ 6 จุด ดังนั้นการหยุดขาดทุนต้องไม่ให้เกิน 3 จุด เป็นต้น

5.ผูกติดกับข้อผิดพลาด
นักลงทุนหลายคนมักจะย้ำคิดย้ำทำกับข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยๆ จนทำให้การตัดสินใจแต่ละครั้งจะเกิดความลังเล เพราะไม่แน่ใจ ว่าจะผิดพลาดซ้ำกับเหตุการณ์ที่เคยทำผิดมาก่อนหรือไม่ หากจะเปรียบกับนักมวย ก็เหมือนกับโดนต่อยเข้าที่หน้าและเกิดการแหยงหมัด และเมื่อขึ้นชกอีกครั้งก็กลับเกิดการลังเล ชักเข้าชักออก จนต้องโดนต่อยเข้าที่หน้าอีกรอบ พอความกลัวเข้ามา สติเริ่มขาดหาย ก็เปิดหน้าทิ่มหมัดอย่างเดียว ก็เลยถูกต่อยซะน่วม อาการนี้เขาเรียกเมาหมัด ซึ่งสุดท้ายจะหยุดชกได้ก็ต่อเมื่อโดนน๊อค ถ้าเปรียบกันกับผู้ลงทุนในฟิวเจอร์ ก็คือจนกว่าเงินจะหมด จึงจะเรียกสติกลับมาได้

6.ไม่ยอมใช้ Stop condition
เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดในตลาดอนุพันธ์ ก็คือการ Stop loss หรือการหยุดขาดทุน นี่คือวินัยสำคัญอันยิ่งยวดที่ผู้ลงทุนในตลาดอนุพันธ์จะต้องทำให้ได้ เพราะหากไม่สามารถหยุดขาดทุนได้แล้ว ก็เหมือนกับรถยนต์ที่ไม่มีเบรค เพราะต่อให้ผู้ขับเก่งกาจแค่ไหน แต่จะต้องจบลงด้วยการหมดตัวในที่สุด ซึ่งหลักการนี้ทำให้ผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในหุ้น กลับต้องมาขาดทุนในตลาดฟิวเจอร์มานักต่อนักแล้ว เหตุเพราะการลงทุนในฟิวเจอร์ มี leverageค่อนข้างสูง จึงทำให้เวลาขาดทุนมันดับเบิ้ลหลายเท่าเมื่อเทียบกับหลักประกันที่ใช้ลงทุนตั้งต้น ประกอบกับสัญญามีการกำหนดเวลาหมดอายุชัดเจน และมีการบันทึกกำไรขาดทุนจริงทุกวัน จากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการถือแบบลงทุนระยะยาว หรือใช้คติไม่ขายไม่ขาดทุน ในตลาดนี้ ไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งผู้ลงทุนที่ไม่เข้าใจในหลักการข้อนี้แล้ว ก็เท่ากับปิดประตูแพ้ทันที

7. Don’t know Regulations and Rules การที่ไม่ได้ศึกษาถึงกฎกติกาให้ดีก่อน
เช่น สินค้าอ้างอิงว่าเป็นสินค้าอะไร ,เงื่อนไขการวางหลักประกัน, วันหมดอายุสัญญา, มูลค่าของสัญญา ,วีธีการคำนวนราคา Daily Settlement price และ Final Settlement Price ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดทอนเงินทุนและกำลังใจของผู้ลงทุนก่อนถึงเป้าหมายได้ เปรียบเสมือนเกมส์การแข่งขันในกีฬาแต่ละประเภท หากไม่ศึกษาถึงกฎกติกาวิธีการเล่นอย่างชัดเจนแล้ว ก็ยากที่จะชนะหรือได้เปรียบต่อนักลงทุนรายอื่นได้ ซึ่งตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ คือการที่เข้าเปิดสถานะซื้อสัญญาที่กำลังจะหมดอายุ โดยมีราคาสูงกว่า ราคาสินค้าอ้างอิงอยู่มาก ทำให้เมื่อถึงวันหมดอายุสัญญา ต้องขาดทุนอย่างที่ไม่ควร เป็นต้น

8. Hold 2 positions การเปิดสถานะสองด้าน
การเปิดสัญญา 2ด้านใน Series เดียวกัน (2 legs position) หรือการทำ hedging ด้วยการ Long และ Short คนละSeries (เดือนหมดอายุไม่เท่ากันแต่สัญญาสินค้าอ้างอิงเดียวกัน) เพื่อต้องการแก้ไขพอร์ตการลงทุนหรืออยากทำกำไรทั้งสองด้าน (ทั้งขึ้นหรือลง) ซึ่งที่เห็นส่วนใหญ่นั้น จะเกิดจากการที่นักลงทุนมีการลงทุนที่ผิดทางในครั้งแรก แต่ไม่ยอมปิดสถานะจึงเลือกที่จะทำการถือสถานะทั้งสองด้านเพราะไม่อยากปิดสัญญาด้านแรกที่ต้องรับรู้การขาดทุน ดังนั้นจึงหลอกตัวเองด้วยการไม่ปิดสถานะเพราะเชื่อว่าไม่ปิดก็ยังไม่ขาดทุน

โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวนั้นจะคิดว่าตนเองสามารถแกะสถานะทั้งสองด้านเพื่อทำให้สุดท้ายเกิดกำไรได้ทั้งสองด้าน ซึ่งความเป็นจริงนั้นมันทำได้ยากมาก ดังนั้นการเปิดสถานะทั้งสองด้านจะเป็นปัญหาและอุปสรรคมากกว่า เนื่องจากจะทำให้การตัดสินใจของผู้ลงทุนจะไม่เฉียบคมเพราะการถือสถานะทั้งสองข้างจะทำให้เกิดความลังเลใจเนื่องจากจะมีด้านหนึ่งกำไรและด้านหนึ่งขาดทุนอยู่ตลอดเวลาซึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนตลาดฟิวเจอร์ ส่วนใหญ่นั้นจะตัดใจด้วยการปิดสถานะทันทีเมื่อทิศทางไม่ได้เป็นอย่างที่คิด จากนั้นค่อยหาจังหวะใหม่ในการเปิดสถานะใหม่

9. Overnight trade การเปิดสถานะข้ามวัน
บางช่วงเวลาหากประเมินสภาวะตลาดหรือมองทิศทางของแนวโน้มไม่ออก การเปิดสถานะค้างไว้เพื่อลุ้นในวันถัดไป ก็คงไม่ต่างอะไรกับการพนัน ที่เพียงเดาว่ามันจะขึ้นหรือลง ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นได้ว่ากำไรที่สะสมมาระหว่างวันนั้น กลายเป็นต้องมานั่งลุ้นนั่งพนันกับสิ่งไม่แน่นอนหรือควบคุมไม่ได้ในช่วงกลางคืนที่ตลาดปิด ดังจะเห็นได้จากราคาทองคำที่มีการซื้อขายอยู่ตลอด 24 ช.ม. แต่เวลาที่เราสามารถควบคุมได้(หยุดขาดทุนได้) ก็มีเพียงช่วงเวลาเทรดเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปในช่วงข้ามคืนในขณะที่เราไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้เลย หรือการซื้อขายดัชนีล่วงหน้า SET50 ที่อาจมีแนวโน้มเปลี่ยนไปในช่วงกลางคืนจากการผันผวนของดัชนีตลาดต่างประเทศ เช่น Dowjone ก็อาจส่งผลในทิศทางตรงกันข้ามในช่วงเวลาเปิดตลาดของวันถัดไปก็เป็นได้

ดังนั้น การปิดประตูความเสี่ยง ได้คือการไม่มีสถานะ ในช่วงที่เราไม่สามารถควบคุมการลงทุนของเราได้

10.ไม่ประเมินสภาพคล่องของสถานะคงค้าง OI (Open Interest) และ Volume
มีนักลงทุนหลายคน มองเห็นถึงโอกาสส่วนต่างทางด้านราคาของสินค้าอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น Single Stock Gold Futures หรือ SET50 index options ว่ามีราคาฟิวเจอร์ที่ต่างจากสินค้าอ้างอิงอยู่มาก แต่เมื่อเขาทำการซื้อขายแล้ว กลับไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากไม่สามารถหาสัญญาตรงข้ามมาปิดสถานะเพื่อทำกำไรได้จริง กลับเห็นกำไรเป็นแค่ unrealized Profit ที่อยู่ในพอร์ต แต่พอเมื่อวันเวลาผ่านไป กลับเจอปัญหาว่า ทิศทางของราคาได้เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามกับที่เปิดสถานะไว้ จึงทำให้ตัวเองต้องขาดทุนอย่างไม่ได้ตั้งใจ แตซ้ำร้ายกว่านั้น หากหลักประกันมีไม่มากพอ อาจต้องโดนบังคับขายด้วยราคาที่ไม่พึงประสงค์ และขาดทุนในที่สุด ในเวลาต่อมา

สรุปได้ว่า "การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ใดก็ตาม โดยมิได้ประเมินถึงสภาพคล่องอาจเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไม่สามารถจับคู่ได้ จุดนี้นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบ Open Interest อยู่เสมอว่ายังมีผู้ถือสถานะอยู่เท่าไร"

เรียบเรียงโดย 2Binvestor
เครดิต : investorchart.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น