11 ตุลาคม 2555

'ธวัชชัย เลิศรุ่งเรือง' เซียนหุ้นผู้วางเดิมในหุ้นไม่เกิน 5 ตัว

เขาเป็นผู้หนึ่งที่เคยเจ๊งหุ้น 'ฟินวัน' ของ ปิ่น จักกะพาก วันนี้เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในกลุ่ม 'วีไอ' ธวัชชัย เลิศรุ่งเรือง วางเดิมพันหนักในหุ้นไม่เกิน 5 ตัว 


เขาไม่เชื่อในเรื่องการกระจายความเสี่ยง เท่าไรนัก เฉกเช่นเดียวกับวอรเรน บัฟเฟต ที่เคยกล่าว่ว่า "การกระจายการลงทุนเป็นการป้องกันความเสี่ยงสำหรับคนที่ปล่อยปละละเลย แต่ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลยสำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่"

"เอก" ธวัชชัย เลิศรุ่งเรือง ไม่เพียงเป็นนักธุรกิจเจ้าของ 3 บริษัท ทำธุรกิจด้านโบรกเกอร์ประกันภัย โบรกเกอร์ประกันชีวิต และขายสินค้าทางโทรศัพท์ มีพนักงานในเครือประมาณ 350 คน เขายังเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในกลุ่มวีไอ มีพอร์ตลงทุนใหญ่หลักร้อยล้านบาท

ธวัชชัย เล่าว่า ทุกวันนี้จะพยายามถือไม่ให้เกิน 5 ตัว กลุ่มหุ้นที่ชอบมากที่สุดคือ "กลุ่มสื่อสาร" ยิ่งมองข้ามไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ผลประกอบการค่อนข้างโดดเด่นหากประมูล 3G ได้กลุ่มสื่อสารน่าจะมีอัตราเติบโตต่อปีสูงมาก อีกทั้งจากสัญญา "สัมปทาน" จะเปลี่ยนเป็น "ใบอนุญาต" ผลตอบแทนที่จ่ายให้รัฐจะลดลงเยอะมาก สำหรับบริษัทที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็ต้องเป็นบริษัทที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีจุดเด่นในเรื่องฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อว่าเป็นหุ้นตัวไหน



นอกจากนี้ก็ชอบหุ้น "กลุ่มอาหาร" เป็นอันดับสอง หุ้นตัวที่ลงทุนอยู่ในระยะยาวผลประกอบการของเขาน่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เป็นบริษัทที่มีเงินสดเยอะมาก และยังมีทีมงานที่แข็งแกร่ง สุดท้ายที่ชอบ "กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน" บริษัทนี้ผลประกอบการขยายตัวทุกปีแต่อาจไม่สูงมากนัก ที่สำคัญเขามีฐานลูกค้าที่มั่นคงมาก และยังให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล 4-5% "

กลุ่มท่องเที่ยวผมก็ชอบเมืองไทยมี “จุดแข็ง” ในเรื่องนี้ ในอดีตเคยถือหุ้นกลุ่มนี้อยู่แต่ปัจจุบันขายไปแล้ว เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเยอะทั้งเรื่องการเมือง ภัยธรรมชาติ และยังพบด้วยว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไม่นิยมพักในที่เดิมบ่อยๆ ชอบเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ

อีกกลุ่มที่ชอบคือ ธุรกิจประกันชีวิต อุตสาหกรรมนี้มีอัตราเติบโตปีละ 15-20% โดยประกันประเภทสะสมทรัพย์มีอัตราเติบโตมากที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ถือหุ้นแล้วตั้งแต่ คปภ. เปลี่ยนกติกาการตั้งสำรองและออกกฎความเสี่ยงใหม่ รายละเอียดค่อนข้างมากและยังไม่มีความชัดเจน" 

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ กล่าวว่า กลุ่มหุ้นที่จะไม่เข้าไปยุ่งด้วยคือ "กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์" มีความเสี่ยงสูงและเดาทางไม่ถูก ในอดีตเคยขาดทุนเพราะคิดว่าเข้าใจมันดี ครั้งหนึ่งเคยขาดทุนหุ้นไทยออยล์ (TOP) เห็นว่าจะขยายโรงกลั่นเกือบ 2 เท่า แต่ปรากฎว่าค่าการกลั่นตกลงมาเยอะมาก นี่ยังไม่พูดถึงสต็อกน้ำมันที่ค่อนข้างมีรายละเอียดซับซ้อน เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่เคยได้บทเรียนราคาแพง "คนที่ลงทุนหุ้นคอมมูนิตี้แล้วได้กำไรเยอะ เขาจะต้องรู้ในสิ่งที่คนอื่นยังไม่รู้ ถือเป็นเรื่องที่มีค่ามาก แต่ถ้ารู้ในสิ่งที่ทุกคนรู้หมดแล้ว มันก็จะไม่มีค่าอะไรเลย” 

ธวัชชัย เล่ากลยุทธ์การลงทุนส่วนตัวทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ... 
ข้อแรก..เราต้องเข้าใจตัวธุรกิจนั้นให้มากที่สุด จะเข้าใจได้ต้องย้อนดูข้อมูลบริษัท และงบการเงินในอดีต 3-4 ปี ยาวกว่านั้นจะดีมาก ว่าบริษัทนี้มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร ส่วนตัวจะให้ความสำคัญประเด็นนี้มากที่สุด

ข้อสอง..คาดการณ์ (เดา) ผลประกอบการ 3-4 ปีข้างหน้า การทำแบบนี้จะทำให้เราสามารถตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทนั้นได้ทุกไตรมาส ถ้าออกมาใกล้เคียงกับที่เราคาดการณ์ก็ดีไป กรณีแตกต่างกันมากก็ต้องไปค้นหาเหตุผลว่ามีอะไรผิดพลาด "ตัวผมเองจะชอบประเมิน "กำไรสุทธิต่อหุ้นในอนาคต" สมมติเดาว่า ปีนี้ จะมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ปีหน้าจะขึ้นเป็น 2 บาท ผ่านมา 1 ไตรมาสตัวเลขเกิด "ติดลบ" ผมก็จะกลับมาดูว่าเพราะอะไร ถ้าปัญหาที่เกิดแค่ชั่วคราวก็ไม่เป็นไร แต่หากมองเป็นปัญหาระยะยาวก็จะขายหุ้นนั้นออกไป"

ข้อสาม..ดูราคาหุ้นปัจจุบันเทียบกับพื้นฐานของบริษัท หุ้นที่จะซื้อค่า P/E ไม่จำเป็นต้องต่ำเสมอไป จะซื้อที่ระดับ "เหมาะสม" เทียบกับตลาดโลก หรือธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเจอหุ้นดีและถูกด้วยยิ่งดี ส่วนใหญ่หุ้นที่ดีในภาวะตลาดปกติไม่ค่อยถูก จะถูกก็ต่อเมื่ออยู่ในช่วงวิกฤติ "ลงทุนแบบนี้อย่าไปคาดหวังผลตอบแทน 30-40% ทุกปี ต้องเปลี่ยนมาคิดว่าขอเพียงผลตอบแทนเติบโตเท่ากับบริษัทที่เราเป็นเจ้าของก็พอ ถ้าผู้บริหารบอกว่าปีนี้ บริษัทจะขยายตัว 15% เราก็หวังผลตอบแทนแค่นั้น แล้วก็ถือยาวๆ อยู่กับบริษัทที่ดีๆ เดี๋ยวผลตอบแทนก็มาเอง"

ข้อสี่..เลือกหุ้นที่ผลตอบแทนเงินปันผล 4% ขึ้นไป ส่วนตัวเลขอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ก็ดูบ้าง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าไร ขอแค่ไม่อยู่ในโซนอัตรายก็พอ เพราะบางธุรกิจจำเป็นต้องมี D/E สูงถึง 1.5 เท่า นั่นเป็นเพราะเขาต้องกู้เงินมาสร้างผลประกอบการ ฉะนั้นตัวเลขนี้มองแค่ผ่านตาพอ สำหรับราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ตัวนี้ก็เฉยๆ แต่หลายคนชอบ เพราะมันสามารถบ่งบอกถึงต้นทุนแท้จริงของเจ้าของว่าอยู่ที่เท่าไร ซึ่งการนำต้นทุนของเราไปเทียบกับของเจ้าของ "ผมรู้สึกว่ามันแปลกๆ" ธุรกิจบางตัวมันไม่ได้ถูกตีมูลค่าเพราะหามูลค่าได้ยาก ฉะนั้นใครอยากดูก็เน้นต่ำๆ ก็ดี แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเห็นหุ้นดีๆ ค่า P/BV ตัวไหนต่ำเลย 

ธวัชชัย กล่าวว่า ตั้งแต่เปลี่ยนมาลงทุนแบบนี้พอร์ตเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ถ้าทำได้ปีละ 15-20% ส่วนตัวก็มีความสุขแล้ว เมื่อก่อนเคยคิดเล่นๆ ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าอยากมีมูลค่าพอร์ตเท่าไร ความจริงมันไม่สำคัญเท่าไร ต่อให้คุณมีเงิน 1,000 ล้านบาท หรือ 5,000 ล้านบาท มันก็เท่านั้น "คนที่ลงทุนหุ้น 100% มีเท่าไรเขาก็ลงทุนเกือบหมด สุดท้ายไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ตัวผมเองก็นำเงินไปซื้อที่ดินบ้าง แต่ไม่คิดจะนำไปทำธุรกิจส่วนตัวอย่างอื่นที่ไม่ชำนาญ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้ผมรู้ซึ้งว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้แตกต่างอะไรจากการลงทุนในบริษัทส่วนตัว มันใกล้กันมาก จะต่างก็ตรงลงทุนหุ้นหากเราเบื่อก็เลิกเล่น หากเป็นเจ้าของบริษัทมันทำแบบนั้นไม่ได้" 

ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองเป็น "ลงทุนนานๆ" การลงทุนระยะยาวไม่ได้แปลว่า “ซื้อแล้วไม่ขาย”...ผมจะถือหุ้นหนึ่งตัวไปจนกว่าจะรู้สึกว่าไม่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทนั้นได้แล้ว หรือพบว่า "ราคาแพงโอเวอร์” เชื่อเถอะ!! ถ้าคุณเลือกถือหุ้นบริษัทดีๆ โอกาสทำกำไรเฉลี่ยปีละ 15% มันไม่ใช่เรื่องยากเลย

เครดิต : bangkokbiznews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น