13 ตุลาคม 2558

ปรมาจารย์ด้านศิลปะ 'ถวัลย์ ดัชนี'

ผลงานของ อ.ถวัลย์ มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกคือ เป็นผลงานที่ดูลึกลับ น่าสะพรึงกลัว ด้วยอสูร หรือสัตว์ต่าง ๆ ในท่าทีเกรี้ยวกราด ซึ่งอยู่ในโทนสีขาวดำมืดครึ้มเป็นหลัก และยังใช้ฝีแปรงและการแรเงาที่สะท้อนอารมณ์ภายในออกมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ภายใต้ความน่าเกรงขามดังกล่าว กลับแฝงไปด้วยคติธรรมและข้อคิดที่บางคนอาจลืมเลือนไปนานแล้ว และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบนี้เอง ทำให้ใคร ๆ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "เห็นเพียงหางตาก็รู้แล้วว่า นี่คือผลงานของ อ.ถวัลย์"

ว่ากันว่าภาพเขียนของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขสูงสุดที่ว่านั้นคือ 20 ล้านบาท!  อาจารย์ถวัลย์ปฏิเสธการขายรูปมาตั้งแต่อายุ 50 ปีแล้ว "ใครอยากจะจองจบกันเลย เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปจนตาย ผมจะเขียนรูปใส่บ้านผมอย่างเดียว ให้มันเป็นมหกรรมเลย ใครอยากเห็นให้ไปดูในวิดีโอได้ ผมขายมามากพอแล้ว เก็บเงินไว้สำหรับพอใช้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ต้องการเงินทองอะไรอีกแล้ว"


“ผมมีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งคือ จัสเปอร์ จอห์น เป็นจิตรกร รูปของเขาอย่างต่ำราคาหนึ่งล้านเหรียญขึ้นไป ฉะนั้น ศิลปินจึงสามารถซื้อเกาะได้ ซื้อเครื่องบินไอพ่นได้ ไม่ต่างอะไรกับนักกอล์ฟหรือนักฟุตบอล ดังนั้น บนดาวเคราะห์ดวงนี้สิ่งที่แพงที่สุดคืองานศิลปะ ไม่ใช่สินค้าของพ่อค้าน้ำมันหรือพ่อค้าทั่วๆ ไป ตอนนี้-งานของแวนโก๊ะห์รูปหนึ่งก็เป็นหมื่นล้านยิ่งงานของปิกัสโซ่นี่จะแสนล้านเข้าไปแล้ว”

ถวัลย์ ดัชนี บอกว่าเขาไม่ใช่ศิลปิน แต่คือช่างวาดรูปคนหนึ่งเท่านั้นเอง “ผมเป็นช่างวาดรูป เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องทำหน้าที่ของช่างวาดรูป คนจะดูหรือจะไม่ดูก็ไม่เกี่ยวกับผม เพราะไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะมันคือธรรมชาติ” “

จริงๆ แล้วเรื่องการค้าขาย เรื่องของธุรกิจ ผมมองว่ามันคือเดรัจฉานกิจกรรม ไม่ต้องมาถาม สิ่งที่ต้องถามก็คือช่างวาดรูปคนนั้นๆ ได้นำสาระอะไรไปสู่คนบ้าง สิ่งที่เป็นสาระจริงๆ คือรูป รูปคือภาษาสากล แล้วรูปเขียนของผมไม่ใช่ภาษาไทย ฝรั่งก็ดูรู้ ไทยก็ดูรู้ เพราะผมไม่ได้เขียนรามเกียรติ์ ผมไม่ได้เขียนลายกนก เพราะฉะนั้น ใครก็ดูรู้เรื่อง แล้วคนที่ซื้อรูปผม 90% เป็นฝรั่งทั้งนั้น นักวาดรูปเป็นคนที่อยู่ระหว่างคนที่ไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีคนเข้าใจมัน นักวาดรูปมันเกิดก่อนเวลา ดังนั้น จึงมีนักวาดรูปน้อยคนที่ขณะมีชีวิตอยู่จะประสบความสำเร็จ...คือขายรูปได้ขณะมีชีวิตอยู่ ที่เห็นชัดๆ ก็มีปิกัสโซ่ แต่ส่วนมากต้องตายไปแล้วหลายร้อยปีคนถึงจะขุดค้นความคิดของเขานั้นมาได้ ซึ่งในแง่นี้ผมก็ถือว่าโชคดี”

ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปี  เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"

ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ ๑ ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง ๑oo+ แต่เมื่อขึ้นปี ๒ กลับทำได้แค่ ๑๕ คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม

ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนี จะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา

“ศิลปะไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับโลกใบนี้หรอกครับ แต่มันทำให้โลกใบนี้มีทั้งคุณค่า และมูลค่า ถ้าโลกนี้ไม่มีศิลปะก็เหมือนก้อนดินที่ลอยคว้างภายในจักรวาล ไม่มีค่า และไม่สร้างสรรค์อะไร” - ถวัลย์ ดัชนี


วาระสุดท้ายแห่งชีวิต : อาจารย์ถวัลย์จากไปในปี 2557 ด้วยวัย 74 
“ถ้าผมตายไป จะให้สัปเหร่อเอามีดสับเป็นชิ้นๆ แล้วโยนให้อีแร้งกิน เพราะเรากินสัตว์มาแยะแล้ว ให้สัตว์กินบ้าง...."


เครดิต : ไทยรัฐ , ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น