14 ตุลาคม 2558

กลยุทธ์การลงทุนของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” นักลงทุนระดับตำนาน

“ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นครูที่สุดยอดนักลงทุนแห่งยุคอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ให้การยอมรับนับถือ 

ครั้งหนึ่ง “บัฟเฟตต์” เคยบอกไว้ว่า การลงทุนของเขามีส่วนผสมของ “เบนจามิน เกรแฮม” 85 % และของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” 15 % แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วน่าจะเป็น 50 % กับ 50 % มากกว่า เพียงแต่ “บัฟเฟตต์” อาจจะต้องการให้เกียรติแก่ “เกรแฮม” ผู้อาจารย์ที่เขาเคารพรัก

“ฟิชเชอร์” เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัท Fisher & Company ที่ซานฟรานซิสโกในเดือนมกราคม 1931 ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ฤกษ์งามยามดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดสภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ปี 1929) แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้อง หลังจากผ่านพ้น 2 ปีแห่งความเลวร้ายของตลาดหุ้น นักลงทุนจำนวนมากรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจโบรกเกอร์ที่พวกเขาเคยใช้บริการ และหันมารับฟังมุมมองใหม่ๆ ในการลงทุนจากคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “ฟิชเชอร์”
“ฟิชเชอร์” เล่าว่า ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ เขาคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบและพูดคุยได้ง่ายๆ เช่นนั้นเป็นแน่ Fisher & Company ค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1935 ธุรกิจก็ติดลมบน และมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น

“ฟิชเชอร์” เชื่อมั่นในการลงทุนแบบเน้นการเติบโต ซึ่งก็คือ การซื้อหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งและน่าสนใจนั้น เป็นวิธีการลงทุนที่ชาญฉลาดที่สุด เขาเขียนไว้ว่า “ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา การค้นหากิจการที่มีความโดดเด่นจริงๆ และถือมันผ่านความผันผวนของวัฏจักรของตลาด ได้พิสูจน์ว่า สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าการพยายามซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วขายในราคาแพง” 

“ฟิชเชอร์” ให้คำจำกัดความของบริษัทที่มีความโดดเด่นว่า “เป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรเติบโตเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี”

การลงทุนแบบเน้นการเติบโตตามแบบของ “ฟิชเชอร์” มีเป้าหมายหลักคือบริษัทขนาดใหญ่ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ และใช้กลยุทธ์ซื้อแล้วถือระยะยาว ในขณะที่นักลงทุนแบบเน้นการเติบโตส่วนใหญ่ซื้อขายค่อนข้างถี่ แม้จะมีเป้าหมายเป็นบริษัทขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ “ฟิชเชอร์” แต่ต่างกันตรงที่พวกเขาไม่ชอบการถือหุ้นระยะยาว สำหรับ “ฟิชเชอร์” แล้ว การลงทุนระยะยาวในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นนั้น ก็เพื่อให้เงินลงทุนของเขาเติบโตไปในระยะยาวพร้อมๆ กับการเติบโตของบริษัทนั่นเอง


“ฟิชเชอร์” ได้ถ่ายทอดวิธีการลงทุนของเขาในหนังสือชื่อ Common Stocks and Uncommon Profits โดยเขาเน้นว่า ก่อนจะลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง จะต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจบริษัทนั้นอย่างลึกซึ้ง แล้วจึงค่อยตัดสินใจลงทุน เขาใช้วิธีที่เรียกว่า “Scuttlebutt” ซึ่งเป็นการ “สืบเสาะเจาะข้อมูลแบบรอบด้าน” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากภายในหรือภายนอกบริษัทก็ตาม 

 “ฟิชเชอร์” จะเข้าไปพบปะพูดคุยเพื่อ “สืบเสาะเจาะข้อมูล” จากแหล่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลจากคู่ค้าที่ติดต่อธุรกิจระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์หรือตัวแทนจำหน่ายของบริษัท, ข้อมูลจากลูกค้าที่ใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท, ข้อมูลจากบริษัทที่เป็นคู่แข่ง, ข้อมูลจากพนักงานของบริษัท หรือแม้กระทั่งพนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วก็สามารถให้ข้อมูลที่ดีและมีประโยชน์ได้เช่นกัน

 โดยปกติทางบริษัทมักจะพยายามไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนที่เป็นจุดอ่อนของตัวเอง แต่ “ปฏิบัติการสืบเสาะเจาะข้อมูล” จากแหล่งต่างๆ ข้างต้น จะทำให้นักลงทุนได้รับข้อมูลทั้งที่เป็น “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของบริษัท ซึ่ง “ฟิชเชอร์” จะให้ความสำคัญมาก เพราะเขาเชื่อว่า “จุดอ่อน” เพียงเรื่องหรือสองเรื่องก็อาจทำให้เกิดความเสียหายกับการลงทุนได้ 

 วิธีการนี้เปรียบเสมือนกับการ “ต่อภาพ” หรือ “ต่อจิ๊กซอว์” คือ นำภาพเล็กๆ หลายๆ ภาพมาปะติดปะต่อกันเป็นภาพใหญ่ อย่างไรก็ตาม “ฟิชเชอร์” บอกว่า ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่หาได้อาจไม่สอดคล้องตรงกัน แต่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล ก็จะทำให้มองเห็น “ภาพรวม” ของบริษัททั้งจากภายในและภายนอก เพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้มีความน่าลงทุนมากน้อยเพียงใด ถ้าเข้าข่ายที่น่าสนใจ “ฟิชเชอร์” ก็จะติดต่อขอเข้าพบกับผู้บริหารของบริษัทเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น 

 แม้วิธีการนี้ต้องใช้เวลามาก และการเสาะหาผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้ก็ไม่ง่ายนัก แต่สำหรับการลงทุนของ “ฟิชเชอร์” ถ้าเขาไม่สามารถหาข้อมูลหรือพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ได้มากพอ เขาจะหยุดการวิเคราะห์และมองหาหุ้นตัวอื่นๆ ต่อไป เพราะเขาถือหลักว่า ถ้าไม่เข้าใจบริษัทนั้นดีพอ ก็จะไม่ลงทุน

เครดิต  thaivi

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น