20 กุมภาพันธ์ 2555

สูตรเล่นหุ้น “ท.พ.ยรรยง”


บางคนอยากฉีกตรำราการลงทุนทิ้ง เมื่อพบว่าการลงทุนที่ทำให้หมอยรรยงประสบความสำเร็จ ไม่ได้อ้างอิงการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างที่ร่ำเรียนกันมา ตลอดการสัมภาษณ์ เขาไม่ได้เอ่ยอ้างถึงทฤษฎีการประเมินมูลค่าพื้นฐาน (Intrinsic Value) ของหุ้นเลยสำหรับเขาแล้วนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักเล่นหุ้นคนอื่น

วิธีการของหมอยรรยงอ้างอิงเกี่ยวกับ “ทฤษฎีจิตวิทยามวลชน” มากกว่า แม้ว่าเขาจะไม่ใช้ศัพท์คำนี้มาอธิบาย แต่วิธีการลงทุนส่วนใหญ่ก็บ่งชี้ว่า เขาสำเร็จมาได้เพราะเล่นหุ้นตาม “กระแสนิยม”
หมอมีวิธีคิดที่ออกจะแหวกแนว ตั้งแต่เขาเริ่มอาชีพ “หมอฟัน” วิธีที่เขาใช้คิดค่าทำฟันกับลูกค้าไม่ใช่กำหนดราคาตามเป้าหมาย แต่เขาคิดเงินโดยดูจาก “ฐานะ” ลูกค้าแต่ละคน “ดูแล้วคนไหนรวยผมจะคิดแพง แต่คนไหนไม่มีเงินผมจะทำให้ฟรี” นั่นเอง

เมื่อเราเปิดดูทฤษฎีการลงทุนหลายเล่ม วิธี “จำกัดความเสี่ยง” ของหมูจึงดูจะ “ไม่มี” ในตำรา แต่กฎการลงทุนที่หมอนำมาใช้หลายข้อ ก็ล้วนถูกเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก โดยเฉพาะกฎการเอาตัวรอดสำหรับนักเล่นหุ้นระยะสั้น (อย่างหมอ) ที่ฝรั่งบอกไว้ว่า “ตลาดหุ้นไม่เคยกล่าวคำเสียใจกับใคร”

ดังนั้นถ้าขาดทุนต้องรีบ “Stop Loss” หมายถึง “รีบขายเพื่อหยุดยั้งการขาดทุน” ถ้ามีกำไรให้ถือต่อไป ซึ่งในตำราฝรั่งเขาจะเรียกว่า “Let Profit Run”


กฎอีกข้อหนึ่งก็คือ “เมื่อมีกำไรแล้วห้ามกลับมาขาดทุน” เหล่านี้คือ บางส่วนของสูตรที่หมอบอกว่าทำให้เขาเล่นหุ้น “ได้กำไร”

“ตราบใดที่ท่านยังมีเงินสดอยู่ในมือ ตราบนั้นท่านยังมีโอกาสทำกำไร” เป็นกฎการเล่นหุ้นของ .
“William.D.Gann” เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “How to Make Profits Trading in Commodities”

ถ้ามีใครไปถามหมอว่า “ไปลอกกฎฝรั่งมาเหรอ” เขาจะรับปฎิเสธและบอกว่า “ผมไม่ค่อยเชื่อวิธีของฝรั่ง ไม่เห็นว่าจะเก่งกว่าเราตรงไหนเลย”

หมอมักย้ำเสมอว่า “ตำรา” ที่เขาใช้ คือ ประสบการณ์ และ เรียนรู้มาจากเพื่อนในวงการมากกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” หรือ “เสี่ยปู่” อดีตนักเศรฐศาสตร์สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ที่มาเอาดีในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม “ทฤษฎีจำกัดความเสียง” ของหมอเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และต้องนำมาขยายความเพิ่มเติม

วิธีจำกัดความเสียงอันดับแรก คือ คุณต้องอ่านสภาวะตลาดหุ้นให้ออก ต้องตอบตัวเองได้ว่าพรุ่งนี้ หรือ อาทิตย์หน้า หรือ อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า คุณตอบได้ไม่? ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร? หุ้นที่คุณถืออยู่จะเป็นอย่างไร?

ผมมองว่าอะไรที่ตอบไม่ได้ หรือ อะไรที่คุณไม่รู้ คือ ความเสี่ยง แต่อะไรที่คุณรู้ คือ ไม่เสี่ยง”
ตัวอย่างเช่น หุ้นบริการเชื้อเพลิงกรุงเทพ (บาฟส์) “หุ้นตัวนี้ผมได้เงินเยอะ” ถ้าเราดูจากข่าวหนังสือพิมพ์ บาฟส์หาผู้แทนจัดจำหน่ายได้ดี และ โฆษณษได้ดี คือ ออกทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และ โทรทัศน์ มันทำให้เกิดกระแสนิยมขึ้นมา ทำให้ความต้องการหุ้นตัวนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ

“ผมก็จะดูว่ากิจการเป็นอย่างไร? ผูกขาดรึเปล่า รายได้และกำไรเป็นอย่างไร? ผู้บริหารวางแผนเพิ่มสภาพคล่องโดยการแตกพาร์ เราก็จับจุดตรงนี้ รู้ว่ามวลชนมีความต้องการมาก ในแง่ของราคา IPO ก็ต่ำ จำนวนหุ้นที่ออกมาก็ไม่มาก ผมได้ข้อสรุปตรงนี้ว่า ผู้บริหารคงอยากให้หุ้นของตัวเองขึ้น”

จากนั้นก็เจาะลงไปดูรายละเอียดของผู้บริหาร อย่างแรกเลยต้องรู้ว่า ผู้ถือหุ้นเป็นใคร? ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ การบินไทย 30% สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10% บริษัทน้ำมัน 5 แห่งถือหุ้นรวมกัน 43% และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 6%

“ผมก็ตั้งคำถามแล้วว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นออกไม่ ผมก็ประเมินว่าคงไม่ขายแน่ ดังนั้น ถ้าผมเจอหุ้นอย่างนี้บอกได้เลยว่า “ได้เงิน” เพราะเราประเมินออกตั่งแต่แรกว่า หุ้นตัวนี้มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ลักษณะการซื้อ คือ ผมจะซื้อหุ้นที่ประเมินแล้วว่าตลาดจะเกิด “ความนิยม” เพราะฉะนั้นความเสี่ยงจะต่ำ”

หมอตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าพบว่าผู้บริหารตั้งใจจะเอาหุ้นเข้าตลาด “เพื่อขาย” หุ้นตัวนั้นจะไปไม่ไกล หลักในการดูตรงนี้หมอบอกว่าดูง่ายมาก

ผมจะบอกหลักให้เลย คือ ให้ไปดู “สัดส่วน” ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือคนเดียว 20 – 30 % อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่หากไปดูแล้วสัดส่วนมันกระจายยาวเป็นหางว่าว อย่างนี้มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการขายออก”

ตัวอย่างเช่น คนแรกถือ 15% คนที่สองถือ 7% คนที่ 3 ลงมาถือคนละ 5 % ไล่ลงมาเหลือ 4% 3 % 2 % อย่างนี้ บอกได้เลยว่ากระจายให้นอมินีถือแล้วตั้งใจขายออกหลังเข้าตลาด หุ้นประเภทนี้จะไปได้ไม่ไกล หมอจึงแนะนำว่าวันที่จะทำกำไรดีที่สุด ก็คือ “ขายวันแรก” แต่ถ้าเจอหุ้นดีเรามองออกว่าราคาจะไปไกล ดีที่สุดก็คือ เราต้อง “ซื้อวันแรก”

หมอมีวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร ? เขาอธิบายหลักการตรงนี้ให้ฟังว่า อย่างแรกเราต้องรู้พื้นฐานของหุ้นให้หมด อย่างเช่น พี/อี เท่าไร? Book Value เท่าไร ? ยอดขายเท่าไร ? กำไรเท่าไร ? ผู้ถือหุ้นเป็นใคร ? มีหุ้นจดทะเบียนกี่หุ้น สัดส่วนที่ถือมีใครบ้าง อยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่กี่เปอร์เซ็นต์

“เวลาผมจะซื้อหุ้น ผมต้องรู้ข้อมูลพวกนี้ให้หมด แต่เวลาซื้อหุ้นจริงๆ จะไม่สนใจว่าราคาหุ้นสูงกว่า P/E กี่เท่า สูงกว่า Book Value กี่เท่า ผมไม่ได้นำมาใช้ตัดสินใจ เป็นแค่ตัวสนับสนุนว่าหุ้นที่เราซื้อมีพื้นฐานรองรับแค่ไหน”

ส่วนเรื่องราคาจะมีกลไกตลาดรองรับเองว่า ควรจะอยู่ตรงไหน ตรงนี้หมอไม่ค่อยให้ความสำคัญ เขายินดี “ซื้อแพง” ถ้ามั่นใจว่าสามารถ “ขายแพง” กว่าราคาที่ซื้อมา แต่สำหรับหุ้น IPO จากประสบการณ์ของหมอ ถ้าหุ้นตัวไหนมีความนิยมสูง ราคาหุ้นวันแรกจะ “เปิด” กระโดด

“ผมจะดูอารมณ์ของตลาด ถ้าน่าสนใจผมก็จะเข้าไปซื้อตอนเปิดตลาดวันแรก อย่างหุ้นบาฟส์ ผมได้หุ้นจอง 60 บาท ราคาเปิดกระโดดวันแรก ผมก็เข้าเก็บที่ 94 บาท มาซื้ออีกทีที่ 100 บาท 110 บาท และ 120 บาท จากนั้นก็หยุดซื้อ พอขึ้นมา 140 กว่าบาท ผมก็ขาย”

เขาอธิบายว่า วิธีการ คือเวลาผมได้หุ้นจองมาส่วนหนึ่ง ก็จะมา “เฉลี่ย” กับ “ต้นทุน” ที่ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลักการของเขาก็คือ “จำกัดความเสี่ยง” ฟังผมพูดเหมือนว่าจะมีความเสี่ยง แต่จริงๆแล้วไม่มี เพราะอะไร ?

ตัวอย่างเช่น ผมได้หุ้นจองมา 3 หมื่นหุ้นในราคา 60 บาท พอเข้าตลาดวันแรกผมเริ่มซื้อที่ราคา 94 บาท สมมติซื้อเข้าไปอีก 3 หมื่นหุ้นผมก็จะเฉลี่ยต้นทุนโดยเอา 60 บวก 94 หาร 2 ต้นทุนของผมก็จะอยู่ที่ 77 บาท ก็ยังได้กำไรอีกเยอะเมื่อเทียบกับราคาในตลาด

แสดงว่าผมไม่มีความเสี่ยงเลย เพระทุกครั้งที่เรา “กำไร” เท่ากับว่าเรา “ไม่มีความเสี่ยง” ตราบใดที่เรา “ขาดทุน” ถึงจะเรียกว่ามี “ความเสี่ยง”

เขาเล่าว่าตอนที่จองหุ้นบาฟส์ได้หุนมาไม่เยอะ จำได้ว่าครั้งแรกเข้าไปซื้อที่ราคา 94 บาท ซื้อไปประมาณ 5 แสนหุ้น แล้วมาซื้อที่ 100 บาท อีกประมาณ 2 – 3 แสนหุ้น โดยทุกสเต็ปท์ที่ซื้อเพิ่ม วิธีการคือจะ ลดจำนวนหุ้นลงเรื่อยๆ

วิธีการของผม คือ เวลาที่ผมซื้อหุ้นขาขึ้น ผมจะลดสัดส่วนลงประมาณครึ่งหนึ่งของทุกครั้ง”

สมมติว่าเขาเริ่มซื้อหุ้นบาฟส์ที่ราคา 94 บาท จำนวน 5แสนหุ้น ซื้อที่ 100บาท ที่2.5แสนหุ้น ซื้อที่110บาท ที่ 1.25 แสนหุ้น และซื้อที่ 120บาท ที่ 6.25หมื่นหุ้น (เวลาซื้อหุ้นขาขึ้นจะลดจำนวนหุ้นลงสเต็ปท์ละ 50%) เขาจะใช้เงินไปทั้งหมด 93.25 ล้านบาท เท่ากับว่าต้นทุนเฉลี่ยของเขาจะอยู่ที่หุ้นละ 99.46 ล้านบาท

“การซื้อหุ้นอย่างนี้ก็เพื่อให้ “ต้นทุน” เฉลี่ย “ต่ำกว่า” ราคาตลาด พอเราเห็นว่าราคามันขึ้นไปเยอะก็รอดูอย่างเดียว เพื่อหาจังหวะขาย” เขาบอกเคล็ดลับนี้ให้ฟัง

ปรัชญาการจำกัดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของหมอ คือ เวลาหุ้นขึ้นแรงๆ ถ้ามันขึ้นมาถึง 50% ยังไง ก็ขาย เพราะยังไง หุ้นก็ต้องปรับตัวลง และถ้าหุ้นลงมาถึง 50% ยังไง ก็ต้องซื้อ เพราะยังไง ก็ต้องปรับตัวขึ้น “มันเหมือนกับเป็น “สูตร” อยู่ในใจผมเลยว่า ถ้าหุ้นขึ้น 50% ลง 50% ยังไงก็ต้องปรับตัว”

อย่างหุ้นบาฟส์ เวลาผมนับว่าหุ้นขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ผมไม่ได้เริ่มนับจากราคาจอง แต่ผมเริ่มนับจากราคาเปิดวันแรกที่ 94 บาท เพราะฐานมันจะอยู่ตรงนั้น พอขึ้นมาถึง 140 บาท เท่ากับว่ามันขึ้นมาแล้ว 50% ผมก็ต้องขาย ที่ผมบอกว่าการลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยง เพราะผมรู้อยู่แล้วว่า “ค่าเฉลี่ยต้นทุน” ของเรา “ต่ำกว่า” ราคาตลาด ผมถึงบอกว่าไม่เสี่ยง”

ส่วนกรณีที่ซื้อหุ้นไปแล้ว ราคามีแนวโน้มลดลง หมอจะไม่ยอมให้ “กำไร” กลับมาเป็น “ขาดทุน” อย่างเด็ดขาด เขาจะใช้วิธีลดความเสี่ยงโดยการทยอยขายหุ้นออกจากพอร์ต

หมอยรรยงได้อธิบายปรัชญาของเขาว่า “จะกำไรน้อย หรือ กำไรมากไม่สำคัญเท่ากับ ทำยังไง ก็ได้ไม่ให้กำไรต้องกลับมาเป็นขาดทุนเพราะมันเป็นวิธีการเล่นหุ้นที่ผมจะถือว่าตัวเอง “โง่” มาก

หมอยกตัวอย่างว่า ถ้าเขาเริ่มซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท หุ้นขึ้นไปที่ 15 บาทเขาจะขายทิ้ง ถ้าขึ้นจาก 15 บาทไปที่ 20บาท แล้วตกมาเหลือ 15บาท เขาจะขายทิ้งที่ราคา 15บาท ถ้าจาก 20 ขึ้นไป 25 ลงเหลือ 20 เขาก็จะขายทิ้งที่ราคา 20บาท หลักเกณฑ์นี้อาจไม่ “ตายตัว” แต่เป็นวิธีการที่หมอบอกว่าเป็นวิธีการ “จำกัดความเสี่ยง” ในภาวะที่หุ้น “ผันผวน”

หมอสรุปให้ฟังว่า กฎการจำกัดความเสี่ยงของเขาจริงๆแล้ว มีอยู่แค่ 4 ข้อ คือ

หนึ่ง ขาดทุนต้อง “Cut Loss” (ยอมตัดขาดทุน)
สอง ถ้ามีกำไรให้ถือต่อ
สาม ถ้ามีกำไรห้ามกลับมาขาดทุน
สี่ ถ้าขาดทุนครั้งแรกต้องหยุดการลงทุน มิฉะนั้นจะทำผิดซ้ำสอง

“นี่คือ กฎเกณฑ์ทีผมจะยึดถือเอาไว้ตลอด ผมถือคติว่า ถ้าเราผิดครั้งแรกแสดงว่าเราเริ่มตาถั่ว มองหุ้นไม่ออก แสดงว่าสิ่งที่เรามองว่าถูกที่จริงมันผิดหมด อย่างนี้ผมจะลงจากเวทีชั่วคราว”

หมอยรรยงเล่าว่า เขาเคยเล่นหุ้นเสียมากที่สุดแค่ 30 ล้านบาท ในการวางเดิมพันครั้งใหญ่ๆ ถ้าขาดทุนเกิน 5% เขาจะใช้คำสั่ง “Stop Loss Orders” หรือ “ขายเพื่อหยุดยั้งการขาดทุน” ทันที

ขณะเดียวกัน เวลามีกำไรหมอก็จะปล่อยให้กำไรมันวิ่งไปเรื่อยๆ

“คอนเซ็ปท์ผมคือ หุ้นขึ้นซื้อเพิ่ม ไม่ขึ้นหยุดซื้อ ถ้าลงต่อ “Cut Loss” ดังนั้น เวลาขาดทุนผมถึงขาดทุนน้อย ยกเว้นเจอแจ๊คพอต ซื้อไปแล้ววันต่อมามีข่าวปฎิวัติ หรือมีข่าวไม่คาดฝัน อย่างนี้ผมจะเจ๊งเยอะ แต่ผมก็จะรีบขายทิ้งในวันรุ่งขึ้น สรุปว่า ถ้าผมมองไม่ออกว่าอนาคตของหุ้นที่ผมถืออยู่เป็นยังไง คอนเซ็ปท์ผมคือ ต้องขายทิ้งทันที”

หากถามว่าวิธีการลงทุนของหมอยรรยง แตกต่างจากวิธีการลงทุนของ “Value Investor” อย่างไร ? หมอมีความเห็นว่า “คนละขั้วกันเลย”

“วิธีคิดของผม คือ จะไม่ผูกพันกับหุ้นตัวไหน พร้อมจะ “ตีจาก” ทุกเมื่อที่มีกำไร อีกอย่างคือ ผมมีความเห็นว่า การลงทุนระยะยาว คือ “ความเสี่ยง” ดังนั้น พอร์ตของผมจะมีหุ้นเป็นช่วงๆ”

หมอยังบอกอีกว่า จะไม่เล่นหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ จะซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสูง และจะเล่นหุ้นเฉพาะที่อยู่ใน “กระแสนิยม” ในขณะนั้น

เขาเปรียบเทียบวิธีการเลือกหุ้นของเขาว่า เหมื่อนกับการดูเทรนด์แฟชั่น “ สมมติว่าคนกำลังบ้าหลุยวิตตอง ผมก็จะซื้อหลุยวิตตอง ถ้าผมประเมินว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะไป ดูข้อมูลทุกอย่างแล้วเข้าคอนเซ็ปท์ ผมจะเข้าซื้อโดยไม่สนใจราคา แต่ถ้าคนเลิกเห่อ...ผมก็เลิกเล่น”

ดังนั้น เขาจึงไม่สนใจว่าหุ้นที่ซื้อราคาจะ “ถูก” หรือ “แพง”

จะว่าไปแล้ว สไตล์การเล่นหุ้นของหมอยรรยงจัดว่า “เฉียบคม” อย่างยิ่ง เขากล่าวว่า สไตล์ของผม คือ เล่นหุ้นตาม “แฟชั่น” คือไม่ชอบนำแฟชั่น และไม่ชอบตามแฟชั่น แต่ผมจะ “เกาะกระแส” แฟชั่น เพราะผมเชื่อว่า นี่คือ วิธีการจำกัดความเสี่ยงที่ดีที่สุด”

จังหวะที่หมอจะใช้ซื้อขายหุ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร?

หมอจะมีจุดสังเกต คือ “วอลุ่ม” หมอจะใช้ “วอลุ่ม” วัดระดับความเสี่ยงของหุ้น และสภาวะตลาดในขณะนั้น

ช่วงไหนที่ตลาด “Sideway” วอลุ่มไม่ค่อยมี หมอจะหยุดดู และ ทำตัวเหมือนกับ “เหยี่ยว” ที่รอคอยจังหวะในการเข้าโฉบเหยื่อ เมื่อไรก็ตามที่เขาบอกตัวเองว่าช่วงนี้หุ้น “เล่นยาก” ลงทุนไปก็ไม่คุ้ม เขาจะหยุดเล่นเลย นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้หมอยรรยงแตกต่างจากนักเก็งกำไรทั่วไป

หมอรวยมาได้ไม่ใช่เพราะบังเอิญ “โชคดี” กว่านักเล่นหุ้นคนอื่น นั่นเพราะเขาเลือกจับเฉพาะ “ปลาใหญ่” และกล้า “วางเดิมพัน” จนหมดหน้าตัก ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม เพราะเขามองว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของการทำกำไร และจำกัดความเสี่ยง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หมอยรรยงเชื่อว่า ตลาดหุ้นมี “ฤดูกาล” ของมัน ในแต่ละปีจะมีช่วง “นาทีทอง” อย่างน้อย 1 – 2 เดือน และเขาจะไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือ

เขาเผยว่าจะไม่เล่นหุ้นแบบ “ทอดแห” และไม่ซื้อหุ้นโดยไม่มีเป้าหมาย “ผมถือคติว่าจะไม่จับปลาเล็ก ผมชอบจับปลาวาฬ”

วิธีการ คือ จะซื้อหุ้นน้อยตัว แต่จะซื้อทีละเยอะๆ โดยมองผลตอบแทนต่อครั้งประมาณ 20 – 30 % หรืออย่างน้อยก็ต้อง 10% ขึ้นไป”

ในบางเดือน หมอยรรยง บอกว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ดีเขาอาจจะซื้อขายหุ้นเพียงแค่ 200 – 300 ล้านบาท แต่ช่วงตลาดหุ้นบูมเขาอาจจะซื้อขายสูงถึงเดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่เฉลี่ยแล้ว แต่ละเดือนจะซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือปีละกว่า 10,000 ล้านบาท

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เขาเห็นส่วนใหญ่จะซื้อขายหุ้นบ่อยเกินไปและหวังกำไรเพียงแค่ 3 – 4 % ก็ขาย “ภาษานักเล่นหุ้นเปรียบเหมือนกับการ “กินน้ำหวานปลายมีด” คือ ได้รับผลตอบแทนน้อย แต่ลิ้นคุณต้องเจ็บตลอด อย่างนี้ผมจะไม่เล่น เพราะผิดหลักการจำกัดความเสี่ยง”

ส่วนวิธีหาข้อมูลนั้น หมอบอกว่า เวลาเลือกหุ้นอันดับแรกจะดูจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจทุกเช้า อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” จะอ่านทุกวัน เพราะข้อมูลค่อนข้างหน้าเชื่อถือได้มากกว่าฉบับอื่น

พอมาถึง “ห้องค้า” ก็มาอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์บ้างว่า ช่วงนี้เขาแนะนำหุ้นตัวไหน แล้วก็มาดูว่าหุ้นตัวไหนบ้างที่มี “ข่าวดี” จากนั้นก้จะต้องเช็คว่าสิ่งที่ลงไปนั้นจริงหรือเปล่า หุ้นตัวนั้นมีพื้นฐานอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ราคาหหุ้นสะท้อนออกมาหรือยัง ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วว่าน่าสนใจ ก็จะเริ่มลงทุน

หมอบอกว่า ในแต่ละปีจะเจอหุ้นอย่างนี้เยอะพอสมควร คนเล่นหุ้นก็จะมองเหมือนๆกัน คือ ชอบเล่นหุ้นที่ “มีข่าว” ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อไปแล้วจะได้กำไรแทบทุกครั้ง

แต่หมอก็มีเทคนิคในการหาหหุ้น “ประจำวัน” เหมือนกัน โดยเขาจะมาถึงห้องค้าก่อนเวลา 9.30 น. เพื่อมาเปิดดูข้อมูล “Per-Opening” ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง 09.30-10.00 นาฬิกา ที่ให้สมาชิกโบรกเกอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นเข้ามา เพื่อระบบการซื้อขายนำคำสั่งซื้อขายทั้งหมดมาเรียงลำดับ เพื่อคำนวณหาราคาเปิดตลาดของวันนั้น

“พอเห็นข้อมูล Per-Opening ดูก็พอจะเดาทิศทางตลาดวันนี้ออกว่า จะเป็นอย่างไร?
เช่น พอเวลา 09.30น. ตลาดเปิดให้คนที่ตั้งออเดอร์ ล่วงหน้าส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามา ถ้าโชว์ “Offer” ก่อน แสดงว่าวันนี้ตลาดไม่ดี เพราะมีคนตั้งขายมาก ถ้าโชว์ “Bid” ก่อน แสดงว่าวันนี้ความต้องการซื้อจะมีมาก ถ้าไปเจอหุ้นที่มี Bid เข้ามามากๆก่อนตลาดเปิดทำการ แสดงว่าวันนี้หุ้นตัวนั้นราคากำลังจะไป”

“ผมก็มาดูว่าเซ็กเตอร์ไหนโชว์ Bid เยอะๆ อย่างนี้น่าสนใจ พอเปิดตลาดปุ๊บเข้าไปดู “Most Active” 5อันดับแรกเป็นอย่างไรบ้าง เราก็พอจะรู้แล้วว่า เอ๊ะ ทำไมหุ้นตัวนี้ถึงติด 1 ใน 5 เราอ่านข่าวตอนเช้ามาแล้วนี่ มันสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นมั้ย ถ้าผมดูอารมณ์ตลาดวันนี้ดี ดูปัจจัยพื้นฐานหุ้นใช้ได้ เราก็พอจะรู้แล้วว่าอาทิตย์นี้หุ้นตัวไหนจะ”ฮอต” บ้าง ถ้าทุกอย่างโอเค ผมก็อาจจะเข้าไปซื้อ เมื่อไรที่ตลาดเริ่มวายผมก็ถอย”

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ถ้าจะซื้อหุ้นตัวไหนหนักๆ เขาจะพิมพ์โครงสร้างผู้ถือหุ้นออกมาดูก่อนทุกครั้ง เพื่อให้รู้ว่าบริษัทนี้เป็นของใคร? ผู้ถือหุ้นมีนิสัยเป็นอย่างไร “จากประสบการณ์พอดูปุ๊บผมก็จะรู้”

บางทีหมออาจจะเจอหุ้นดีๆ จากเวปไซต์ “ Pantip.com” บางทีผมกลับบ้านกลางคืนก็เข้าไปดูใน “Pantip.com” ดูว่าคนมองตลาดหหุ้นตอนนี้อย่างไร? หุ้นอะไรกำลัง “ฮอต” แต่บางครั้งก็เชื่อถือไม่ค่อยได้

คนส่วนใหญ่มักจะมองหมอยรรยงว่าเขาเป็น “นักเสี่ยงโชค” บางคนมองว่าเป็น “นักพนัน” ด้วยซ้ำ ไม่ว่าใครจะให้คำ “จำกัดความ” ตัวเขาว่าอย่างไร? หมอก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นคนที่ “ไม่ชอบเสี่ยง”

“ผมจบทางด้านวิทยาศาสตร์ ผมจะเล่นด้วยเหตุผล อะไร ? ที่คิดว่าเป็นความเสี่ยงผมจะไม่เล่น อะไร ? ที่ผมมองว่าอนาคตไม่ดีผมจะไม่เล่น ไม่ใช่ว่าการที่ผมเป็นนักเก็งกำไร ผมต้องเล่นหุ้นสุ่มสี่สุ่มห้า เปล่า เพราะถ้า “เสี่ยง” ผมไม่เข้า”

เครคิต : เนชั่นกรุ๊ป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น