27 กุมภาพันธ์ 2555

เส้นทางสู่ร้อยล้าน.. ‘นพ.บำรุง ศรีงาน’


เปิดใจ ‘หมอสามัญชน’ ประธานชมรมไทยวีไอดอทคอม จากเงินก้อนแรก 1.4 ลบ. ผ่านไป 9 ปี พอร์ตหุ้นทะยานแตะระดับ ‘ร้อยล้าน’ เขาทำได้ คุณก็ทำได้


ก็อยากรวยจากตลาดหุ้น แต่ใช่ว่าใครๆก็รวยได้ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มต้นคิดถึงอนาคตในวันข้างหน้าของ “ครอบครัวศรีงาน” เขาตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนเล็กๆ ที่ทำงานรับใช้คนไข้มาตลอด 7 ปี รวมกับเงินกู้สหกรณ์อีกก้อนหนึ่ง เริ่มเพาะต้นกล้าการลงทุนตามแนวทางแวลูอินเวสเตอร์ โดยมีอนาคตลูกน้อยอีก 3 ชีวิต เป็นเดิมพัน



เวลาผ่านไป 9 ปี มหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ “ทบต้น” และการทุ่มเทค้นหาเส้นทางแห่งความสำเร็จ ทำให้หมอบ้านนอกประกาศอิสรภาพทางการเงิน เป็น “นาย” ของเงินนับ “ร้อยล้านบาท” ในปัจจุบัน และใช้เงิน “ทำงาน” ราวกับเครื่องจักรอันทรงพลัง ทั้งยังแบ่งปันความรู้จนเป็นที่นับถือของพี่น้องชาวไทยวีไอดอทคอม ในฐานะ.. “พี่หมอสามัญชน”




กลุ่มนักลงทุน “ไทยวีไอ” ที่ก่อตั้งโดยแกนนำอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร , ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ฯลฯ เป็นผู้นำแนวคิดของปรมาจารย์การลงทุนหุ้นคุณค่าระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ , เบนจามิน เกรแฮม , ปีเตอร์ ลินช์ มาปรับใช้กับการลงทุนแบบไทยๆได้อย่างลงตัว จนเกิดนักลงทุนทางเลือก ที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ



ปัจจุบัน นพ.บำรุง ศรีงาน เป็นประธานชมรม “ไทยวีไอ” ที่หันเหชีวิตมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา ส่วนตัวเขาเริ่มไต่ระดับพอร์ตหุ้นจากหลัก “ล้านบาท” สู่ระดับ “ร้อยล้านบาท” จากการเข้าลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) , โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) , ไอที ซิตี้ (IT) , ผาแดงอินดัสทรี (PDI) , เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) , สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) และ ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) บางตัวมีกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์



กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดพูดคุยกับคุณหมอสามัญชนที่โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง คุณหมอนักลงทุน เปิดฉากชีวิตก่อนจะมาถึงจุดนี้ให้ฟังว่า ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะมีรายได้ค่อนข้างดีกว่าอาชีพอื่น แต่เริ่มมีความคิดว่าอายุเราก็เพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำงานย่อมลดลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มมากขึ้นเพราะลูกทั้งสามคนโตขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจมองหาอาชีพเสริม ตอนนั้นคิดจะเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่น



“แต่หลังจากไปฟังสรุปข้อมูลจากทางบริษัทคิดว่าไม่คุ้มค่า เพราะต้องลงไปบริหารร้านเองด้วย ต่อมามีโอกาสได้อ่านหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ จับใจความสำคัญได้ว่า เราสามารถใช้เงินให้ทำงานได้ จึงเริ่มวางแผนที่จะนำเงินเก็บที่มีอยู่ 400,000 – 500,000 บาท จากการทำงานมาตลอด 7 ปี บวกกับกู้เงินสหกรณ์อีก 1,000,000 บาท นำไปลงทุน โดยไม่คิดฝากเงินในธนาคารเพราะตอนนั้น (ช่วงปี 2545) ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1% ต่ำมาก”



ตอนนั้นในหัวคุณหมอคิดถึงทฤษฎีของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่พูดถึงสิ่งมหัศจรรย์ “อันดับแปด” ของโลกนั่นคือ “ดอกเบี้ยทบต้น” ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% ทุกปี ตลอดระยะเวลา 20 – 30 ปีต่อเนื่อง ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ



“จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังได้เห็นโฆษณาขายหุ้นไอพีโอ ปตท. (PTT) แล้วเขาชูเรื่องจ่ายเงินปันผล 7% เยอะกว่าฝากเงินมาก เลยตัดสินใจเปิดพอร์ตเดี๋ยวนั้นเลยกับ บล.เกียรตินาคิน”



ก้าวแรกในการลงทุนของคุณหมอยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดประสบการณ์และความรู้ยังไม่แน่น เริ่มซื้อหุ้นชุดแรก เช่น ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH) , เจริญโภคภัณฑ์อาหาร , (CPF) , ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) ผ่านไปประมาณครึ่งปี ขาดทุนไป 400,000 บาท



“เหตุผลที่ซื้อหุ้นตอนนั้นเพราะโบรกเกอร์บอกว่า หุ้นกลุ่มเกษตรจ่ายปันผลดีกว่า ปตท. มาขาดทุนหุ้น CFRESH เพราะดูงบการเงินในอดีตและปัจจุบันมันดี แต่ลืมดูแนวโน้มในอนาคต(จากที่คิดว่าถูกก็เลยกลายเป็นแพง)”



เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมจนได้มาอ่านหนังสือ “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาช่วยเติมเต็มความรู้ สิ่งที่ได้เรียนรู้มากขึ้นจากหนังสือตีแตก สิ่งที่ ดร.นิเวศน์ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเป็น “เจ้าของกิจการ” กับการเป็น “นักลงทุน”



ข้อดีของการเป็นนักลงทุนคือ เราสามารถเลือกซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ รวมถึงสามารถเลือกขายออกไปในราคาที่มากกว่ามูลค่าทางบัญชีได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเจ้าของหุ้น ก็ต้องกอดหุ้นตัวนั้นไปตลอดไม่ว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ดี



นอกจากนี้ เราสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจระดับประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องลงไปสร้างเองกับมือ คนทั่วไปคงไม่มีเงินเป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน หรือหมื่นล้าน



“ผมเป็นข้าราชการกินเงินเดือน คงไม่มีเงินไปลงทุนธุรกิจใหญ่เองได้ แต่การเป็นนักลงทุนทุกอย่างเปิดโอกาสให้เราได้หมด หนังสือตีแตกยังสอนให้รู้จักการอ่านงบการเงินอย่างถูกต้องด้วย”



ปีที่สองของการลงทุน…กำไรเกือบ 3 ล้าน



พอในปี 2546 หมอบ้านนอกได้ค้นพบหนทางแห่งความร่ำรวยจากการใช้เงินทำงาน ตามแนวคิดของ โรเบิร์ต คิโยซากิ และตีแตกแบบ ดร.นิเวศน์



ปีที่สองของการลงทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 323 จุด (ปี 2545) ทะยานขึ้นไป 802 จุด (ปี 2546) ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังท็อปฟอร์ม พอร์ตของ นพ.บำรุง ก็โตขึ้นมากกว่า 100% ด้วย ปีนั้นสามารถทำกำไรได้เกือบๆ 3,000,000 บาท แต่ปีถัดไปพอร์ตกลับมา “ติดลบ” อีกครั้ง หลังในปี 2547 ดัชนีดิ่งลงมาต่ำสุด 576 จุด เพราะปีก่อนขึ้นไปมากเกินไป รู้ซึ้งสัจธรรมตลาดหุ้นมีขึ้น-มีลง ขึ้นมากได้ก็ลงมากได้เช่นกัน และไม่มีหุ้นอะไรที่ดีตลอดไป



คุณหมอบอกว่า สาเหตุที่ได้กำไรในปี 2546 มาก มาจากภาพรวมดัชนีที่ปรับตัวขึ้นไปมาก แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากความรู้ที่แท้จริง ทำให้ต้องเริ่มต้นหาแนวทางการลงทุนของตัวเองใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้ขาดทุนอีก



จุดเปลี่ยนในฐานะแวลูอินเวสเตอร์อย่างเต็มตัวเกิดขึ้นจากการที่คุณหมอเริ่มเข้าไปพูดคุยในเว็บบอร์ด “ไทยวีไอดอทคอม” เป็นจุดหักเหทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดการลงทุนเชิงบูรณาการ มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักลงทุน “รู้เขา-รู้เรา” ไม่ได้คิดเองคนเดียว จนถึงปีที่ห้าของการลงทุน เริ่มกลับมาได้กำไรประมาณ 20-30%



ถึงตรงนี้ หมอบำรุงเริ่มอธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองให้ฟังว่า คล้ายๆแต่ไม่เหมือนกับแนวทางของ ดร.นิเวศน์ ที่ยึดหลักของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือค้นหา “หุ้นสุดยอด” (Great Stock) ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและอยู่กับมันให้นานที่สุด แต่วิธีการของหมอบำรุงจะค่อนไปทาง ปีเตอร์ ลินช์ และแนวทางของ เบนจามิน เกรแฮม ต้นตำรับการลงทุนแนววีไอ



ปีเตอร์ ลินช์ + เกรแฮม = หมอบำรุง



นพ.บำรุง บอกว่า ถ้าเป็นแนวคิดของ เบนจามิน เกรแฮม จะค้นหาหุ้นที่มีทรัพย์สินมากแต่ราคาถูก แต่ของ ปีเตอร์ ลินช์ จะเน้นลงทุนหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) , หุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นเทิร์นอะราวด์ (Turnaround) ในประเทศไทยหาหุ้นแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มีศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืนยาก และส่วนตัวมองธุรกิจกลุ่มนี้ได้ไม่ค่อยทะลุปรุโปร่ง(เหมือน ดร.นิเวศน์) จึงเดินตามแนวทางที่ “ใช่” กับตัวเองมากกว่า




หุ้นวัฏจักร ถ้าอยู่ในรอบ ‘ขาขึ้น’ จะให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล แม้แต่ ‘ช้าง’ ก็ ‘บิน’ ได้ หลังวิกฤติ หุ้นยานยนต์ ท่องเที่ยว อสังหาฯจะรีเทิร์นเสมอ

ไม่ง่ายที่คนคนหนึ่งจะใช้ “เรือเล็ก” ออกจับปลาใหญ่ในมหาสมุทรกว้าง โดยไม่ล้มครืนกลางทะเลเมื่อเจอพายุใหญ่ เฉกเช่นการเดินทางมิอาจไร้ซึ่งทิศทาง เป้าหมายที่ “ยิ่งใหญ่” ก็มิอาจไร้ซึ่งการรอคอยและความอดทน หมอบ้านนอกจากอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ รวบรวมเงินลงทุนเท่าที่มีมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น เขาตั้งความหวังเหมือนนักลงทุนทุกคน นั่นคือ “กำไร”

แต่การค้าขายหุ้นของหมอมีความชัดเจนตั้งแต่แรกว่า จะเน้นที่กำไรจาก Capital Gain (ส่วนต่างราคาหุ้น) เป็น “อันดับแรก” เงินปันผลเป็นเพียง “ผลพลอยได้”

“ไม่มีประโยชน์ที่ได้ปันผลเยอะแต่ราคาหุ้นร่วง(ตก)มากกว่าหลังขึ้นเครื่องหมาย XD (ผู้ซื้อไม่มีสิทธิรับเงินปันผล) จำไว้ว่าปัจจัยแรกที่หุ้นจะขึ้นคือ “ผลกำไร” รองลงมาคือ “เงินปันผล” (ต้องสมน้ำสมเนื้อ) มีตัวอย่างให้เห็นมามากที่บริษัทกำไรดี แต่จ่ายปันผลน้อยแถมหุ้นก็ไม่ขึ้น”

อีกจุดที่ยากของการลงทุนคือ การตัดสินใจ “ขาย” จะเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นไปถึง Fair Value (ราคายุติธรรม) หรือ Over จากนั้นไปแล้ว หมอบำรุงจะเริ่มจับตาเป็นพิเศษโดยไม่คิดที่จะถือหุ้นตัวไหนไปนานๆ ยกเว้นแต่ราคายังไม่เต็มมูลค่า

“ผมเชื่อว่าของทุกอย่างมีราคาที่เหมาะสมของมัน ไม่มีหุ้นตัวไหนที่ราคาอินฟีนิตี้(ไม่มีจุดจบ) ต่อให้ดีแค่ไหนก็ตาม”

วิเคราะห์หุ้นเหมือนการทำวิทยานิพนธ์

เบื้องหลังความสำเร็จของ นพ.บำรุง หาใช่ “โชค” แต่เป็นการ “ทำการบ้าน” อย่างหนัก หมอเปรียบการวิเคราะห์หุ้นเหมือนกับการทำวิทยานิพนธ์ต้องตัดอารมณ์ความชอบส่วนตัวออก เพราะอารมณ์จะทำให้เกิดความลำเอียง สิ่งที่ต้องการคือข้อเท็จจริงล้วนๆ

นอกจากตัวเลขต่างๆที่ต้องดูแล้ว ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการวิเคราะห์หุ้นก็คือ “ธรรมาภิบาล” ของบริษัทและผู้บริหาร ต่อให้หุ้นดีแต่ผู้บริหารมีข่าวในแง่ลบ เช่น ถูก ก.ล.ต.ลงโทษก็จะ “ไม่ซื้อ” แม้หุ้นจะขึ้นก็ไม่เสียดายจะคิดว่านั่นไม่ใช่เงินของเรา

เครดิต : Bizweek

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น