29 กุมภาพันธ์ 2555

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “การลงทุน ไม่ใช่การเล่นหุ้น”


“ทำไมไม่ทำธุรกิจบ้าง” เพาพิลาส เหมวชิรวรากร เอ่ยถามสามี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


“ผมทำอยู่แล้ว” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยาสั้นๆ แต่ได้ใจความ



ตลอดเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าธุรกิจของ ดร.นิเวศน์เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างงดงาม เป็นที่อิจฉาของใครต่อใครหลายๆ คน และดร.นิเวศน์ไม่ได้เป็นเจ้าของแค่ธุรกิจเพียงแห่งเดียว และอาจจะพูดได้ว่าเป็นบุคคลที่มีธุรกิจหลาย 10 ธุรกิจ และแต่ละธุรกิจเป็นผู้นำทางธุรกิจชนิดคู่แข่งแทบจะวิ่งไม่ทัน



ขอยกตัวอย่างบริษัทของ ดร.นิเวศน์ มาให้อิจฉากัน เริ่มจาก บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF), บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF), บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY), บมจ.ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ (BAT-3K) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.เสริมสุข (SSC) และ บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)



นิยามแห่งความเป็นเจ้าของธุรกิจของ ดร.นิเวศน์ ไม่ใช่เป็นผู้ก่อตั้ง บุกเบิกแล้วค่อยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แต่ใช้ความเป็นเจ้าของผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแล้วก็ถือไปยาวๆ เพื่อรอรับเงินปันผลในแต่ละปี



“บริษัทของเราดีๆ ทั้งนั้น” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยา




ปี 2540 ขณะที่ทุกคนกำลังตื่นกลัวและกระโดดหนีออกจากตลาดหุ้น ดร.นิเวศน์กลับมองว่าเป็นจังหวะโอกาสที่เข้าไปลงทุน ด้วยการมองหาหุ้นดีๆ ที่มีอนาคต ผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง จ่ายปันผลงาม ทนต่อสภาวะวิกฤติ เพียงแต่ในขณะนั้นเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาหุ้นตกลงมาตามตลาดโดยรวม



ดร.นิเวศน์ ทุ่มสุดตัวด้วยการใช้เงินที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตราวๆ 10 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นที่ตัวเองได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่ามีความปลอดภัยและจะอยู่กับตัวเองไปตลอดชีวิต โดยมองว่าถึงแม้หุ้นตัวนี้จะไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีคนซื้อต่อ แต่ก็ได้รับเงินปันผลที่คุ้มค่าและจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง



“ผมคิดว่าจะอยู่กับหุ้นที่ลงทุนไปตลอดชีวิต เพราะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของคนหนึ่งในบริษัทนั้น”



จากปี 2540 จนถึงวันนี้ ดร.นิเวศน์กลายเป็นเศรษฐีหุ้นอย่างแท้จริง ด้วยการคัดกรองมองหาหุ้นที่มีความอยู่รอดปลอดภัยและแข็งแกร่ง ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Value Investor



การลงทุนแบบ Value Investor



การลงทุนแบบ Value Investor ต้องคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องมองหาธุรกิจที่เราอยากเป็นเจ้าของ แต่ธุรกิจที่เราอยากเป็นนั้นจะต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เพราะเป็นความคิดแบบฝันเฟื่อง



ดังนั้นต้องรู้จัก รู้จริงในธุรกิจนั้นๆ พยายามหาธุรกิจที่เข้าใจง่ายและเห็นแล้วว่ามีความสามารถทำกำไรได้ หลักการใหญ่ของการลงทุนแบบ Value Investor คือ ต้องรู้ธุรกิจที่อยากจะเป็นเจ้าของ ถ้าไม่รู้จักธุรกิจนั้นๆ ไม่รู้ว่าขายสินค้าอะไร กำไรมาจากไหนอย่าไปลงทุนเด็ดขาด



ความจริงแล้วการลงทุนแบบ Value Investor เป็นการลงทุนเพื่อชีวิต คือ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่การลงทุน “เล่นๆ” กำไรเล็กน้อยก็ดีใจ ขาดทุนเล็กน้อยก็เสียใจ ตลาดหุ้นดีก็เข้ามา ตลาดไม่ดีก็ถอยออกไป แต่การลงทุนแบบ Value Investor เหมือนกับกำลังปลูกต้นไม้ใหญ่ กำลังสร้างธุรกิจ และเมื่อถึงวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับมาเลี้ยงชีวิตตัวเราให้อยู่แบบสบายๆ



หุ้นในแบบ Value Investor



ประเภทของกิจการที่น่าลงทุนตามหลัก Value Investor คือ บริษัทนั้นๆต้องขายสินค้าที่เป็นผู้นำในตลาด คนจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆ อาจเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เป็นยี่ห้อที่คนชื่นชอบ ติดตลาดหรือขายอยู่เจ้าเดียว คู่แข่งเข้ามาตีตลาดยาก



เลือกลงทุนในธุรกิจดีๆ ในราคาหุ้นที่ต่ำ ราคายุติธรรม ซื้อไม่กี่ตัวแล้วถือยาวๆ ใจเย็นๆ ช้าๆ แต่มั่นคง อาจจะเปลี่ยนหุ้นปีละ 1-2 ตัว และหากเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นปรับขึ้นไปสูงแล้วก็ขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ และติดตามหุ้นไปเรื่อยๆ และอย่าลืมแนวคิดที่ว่าคุณกำลังลงทุนทำธุรกิจและเป็นเจ้าของกิจการ



นอกจากนี้เมื่อได้กำไรหรือได้ผลตอบแทน ได้รับเงินปันผลก็นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งเรียกว่าการลงทุนแบบทบต้น ลงทุนทบต้นทุกปีๆ เพราะดร.นิวเศน์มองว่าการลงทุนแบบทบต้นเป็นสิ่งมหศจรรย์อันดับ 8 ของโลก



ปี 2540 เรียนรู้อะไร



วิกฤติการเงินปี 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ดร.นิเวศน์มองว่าในท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อถอย “ผมมองว่าเมื่อเกิดวิกฤติ การลงทุนจะต้องเปลี่ยนโฉม และผมรู้ว่าการเปลี่ยนโฉมครั้งนี้จะเป็นการลงทุนแบบ Value Investor ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้การวิเคราะห์ต่างๆ และการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยทนต่อสภาวะวิกฤติ”



เมื่อเขาคิดแบบนี้จึงยอมทุ่มสุดตัว “บอกได้เลยว่าตอนนั้นผมเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการลงทุน ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ มองว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีความปลอดภัย แต่ผมมั่นใจว่ายังมีหุ้นที่ต้องอยู่รอดปลอดภัยและต้องดีขึ้นในอนาคต มีกำไร จ่ายเงินปันผลที่ดีขึ้น และจะมีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น แต่ในปี 2540 ราคาหุ้นตกต่ำ เพราะคนกลัวและขายหุ้นทิ้ง”



แนวคิดการเข้ามาลงทุนแบบนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น Value Investor เกิดจากแนวคิดว่าต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านการลงทุนในหุ้น ไม่ใช่เข้ามาเพื่อการเล่นหุ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของธุรกิจเราต้องจ่ายแพงมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ในช่วงปี 2540 เขาไม่ได้จ่ายแพง แต่จ่ายถูกกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นความเสี่ยงแทบจะไม่มีเลย



ถือเป็นการตัดสินใจถูกจังหวะ



ผมบอกได้เลยว่าตอนนั้นผมอ่านตลาดหุ้นไทย “ขาด” กว่าคนส่วนใหญ่ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินลงทุนได้ อีกทั้งผมเป็นผู้นำความคิด Value Investor ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่มีคำว่าการลงทุนแบบนี้ แต่หลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจคำเหล่านี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมเป็นต้นคิดในการลงทุนหุ้นด้วยการใช้การวิเคราะห์แบบละเอียด



ผลตอบแทนจากการลงทุน



ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนได้มาแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยตลอด 11 ปีที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนโตมากกว่า 30 เท่า เพราะช่วงลงทุนไม่ได้คิดว่าจะได้มากมาย แต่จังหวะนั้นเป็นโอกาสทองในการลงทุน ผมมองว่าโอกาสทองในชีวิตคนเราเกิดขึ้นได้แค่หน สองหน ซึ่งเมื่อโอกาสมาคุณจะคว้าทันหรือไม่ หรือปล่อยให้โอกาสทองลอยหายไป



ในช่วงนั้นไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไร ได้เท่าไรก็มีความพอใจ แต่บังเอิญได้มาโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งผมลงทุนไปเรื่อยๆ จนผลตอบแทนทบไปทบมาต่อปีสูงถึง 35%



โอกาสทอง ไม่จำเป็นต้องเกิดท่ามกลางวิกฤติ แต่โอกาสทองของแต่ละคนมีอยู่ตลอดเวลา ประเด็น ก็คือว่า ต้องพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมไม่มีความรู้ ไม่ได้ศึกษามาก่อน ต่อให้โอกาสทองลอยมาก็ไม่สามารถคว้าได้



คิดอย่างไรกับคำว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”



คำว่า “เล่น” ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งคำๆ นี้หมายความว่าการทำให้เกิดความสนุกนาน ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีพื้นฐานมารองรับ และขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่คำว่า “ลงทุน” คือ การมีปัจจัยพื้นฐานมารองรับ มีการวิเคราะห์ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ และเป็นการลงทุนเพื่อมีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต



มองอย่างไรกับการซื้อขายแบบรายวัน



ผมไม่เห็นด้วยการกับการเทรดหุ้นเป็นรายวัน หรือในระยะสั้นๆ เพราะกำลังคิดว่าจะมีนักลงทุนคนอื่นๆ มาซื้อหุ้นต่อจากเรา ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ได้กำไร แต่ถ้าไม่มีใครมาซื้อต่อ ราคาหุ้นจะปรับลดลง เพราะในระยะสั้นๆ ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับแรงซื้อและแรงขาย และแรงซื้อแรงขายเกิดความความกลัว ความโลภของนักลงทุน ดังนั้นถ้าลงทุนในตอนที่มีความกลัวจะเกิดความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้



นั่นหมายความว่าโอกาสที่การลงทุนจะประสบความสำเร็จและล้มเหลวมีเท่ากัน คือ 50:50 และถ้าทำบ่อยๆ ตามสถิติแล้วผลตอบแทนจะเป็นศูนย์ ไม่ได้อะไรเลยจากการลงทุน เพราะโอกาสชนะ 50% โอกาสแพ้ 50% อีกทั้งจะสูญเสียค่าคอมมิชชั่น แม้จะเสียเพียงเล็กน้อยแต่ถ้าเสียบ่อยๆ ก็กลายเป็นเม็ดเงินที่สูงและไม่มีความคุ้มค่า



อย่างไรก็ตาม มีคนประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะสั้นๆ แต่เป็นแค่ 1 ใน 100 คนเท่านั้น แล้วคุณจะเป็น 1 ใน 100 หรือคุณจะเป็น 99 ใน 100



มองความร่ำรวยย่างไร



เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต เมื่อมีถึงจุดหนึ่งก็เพียงพอ ความสุขของคนใช้เงินไม่มาก ถึงแม้จะมีเงินมากแต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย ความสุขมาจากด้านอื่นๆ เงินเป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้น



การลงทุนให้ครอบครัว



ครอบครัวผมตอนนี้อยู่บ้านฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าลงทุน ส่วนภรรยาไม่ลงทุนในตลาดหุ้น ด้านลูกสาวคนเดียว (น้องพิซซ่า) กำลังเรียนอยู่ระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์ ดังนั้นการลงทุนครอบครัวจึงมุ่งไปที่ลูกสาว ในด้านการศึกษาอย่างเต็มที่



ถึงแม้ว่าผมจะประสบความสำเร็จในการลงทุนในตลาดหุ้น ผมเคยเล่าให้ภรรยาและลูกฟัง แต่ไม่ได้เป็นจริงเป็นจังอะไร เพราะคิดว่าแต่ละคนก็มีบุคลิกและสไตล์เป็นของตัวเอง จะให้ภรรยาและลูกสาวเป็นเหมือนผมคงไม่ได้ และไม่สามารถบังคับกันได้



การลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต



การไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ไปโดยไม่มีเงินเลย แต่เรามีแรง มีเวลา นี่คือการลงทุน ซึ่งคนที่ไม่ร่ำรวย การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีสมอง มีแรง มีความขยัน มีเวลา ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้ามีความสามารถเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์จะออกมาดี



ผมคิดว่าการศึกษาให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความคุ้มค่า และทุกวันนี้ความรู้เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งที่ดีที่สุด



จากคอลัมน์ ชีวิตคือการลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น